วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แค่นี้..ก็ไม่เสียชาติเกิด


การแสดงดนตรีร่วมสมัย เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด
มีที่มาจากงานดุษฎีนิพนธ์สองเรื่อง คือ

วิเคราะห์การใช้ภาษาในเพลงบุคคลของยืนยง โอภากุล และ
ยุทธวิธีการนำเสนอเพลงไทยประยุกต์สู่ประชาชน

ดุษฎีนิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผ่านไปแล้วด้วยความรู้สึกดี ทั้งคนฟัง คนเล่น และคนจัด

เสียงสะท้อนเล็กสองเสียง ทำให้การจัดงานครั้งนี้สมบูรณ์มากขึ้น
เพราะมีผู้ประเมินผลงาน ขอนำข้อคิดเห็นมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้


คนแรก คือ เอก อัคคี

"ตามความรู้สึกส่วนตัวของผมไม่น่าจะคิดผิดหากจะบอกว่า
วงดนตรีคาราบาว เป็นมากกว่า วงดนตรีแม้ว่า วันนี้
วัยรุ่นรู้จักคาราบาวน้อยกว่าดงบังชินกิก็ตามที
แต่บทเพลงที่พวกเขาขับขานร่วมร้องบรรเลงกันมายาวนานร่วม ๒๕ ปี
มีคุณค่าและมีความหมายต่อผู้คนในสังคมไทยเรา มากกว่าบทเพลง
ที่ให้ความบันเทิง ความสุขใจ แต่มนต์เพลงคาราบาวให้คนฟังมากกว่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น ในด้านแง่คิด ปรัชญาชีวิต สัจจะแห่งชีวิต ฯลฯ
พูดง่ายๆว่า ฟังแล้วคิดตามก็ทำให้เรามองโลกและคนรอบข้าง
สังคมรอบตัวละเอียดขึ้นมองอย่างเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตมากขึ้น

จะว่าไปแล้วงานนี้คือ

พลังแห่งเสียงเพลงและเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของมนต์เพลงคาราบาว

ถ้าเราจะตามรอยควายแบบคาราบาว มันก็เหมือนกับเรากำลังตามรอยครู

ไม่ใช่แค่จังหวะโจ๊ะๆ เฮฮาสามช่าเอามันส์เข้าว่า-เอาสนุกเข้าใส่
แต่กลับบ้านไปไม่เหลืออะไรติดร่องสมองกลับไปเลยนอกจาก
ความสนุกสนานเมามัน


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒)
วงดนตรีคาราบาวร่วมเล่นคอนเสิร์ตร่วมกับขุนอิน
มือระนาดเทวดาแห่งยุคดิจิตอล
ที่หอประชุมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ท่ามกลางบรรยกาศที่ว่ากันว่า
เป็นกันเองที่สุดเท่าที่คาราบาวเคยประสบพบเจอมาในรอบหลายสิบปี


เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคอนเสิร์ตแบบฟอร์มใหญ่ คนดูเรือนพันเรือนหมื่น
หรือไม่ก็ไปเล่นตามผับเพื่อชีวิต ที่ขาเมาต้องการจะดิ้นพราด ๆ
อยู่ข้างโต๊ะกับเพลงบัวลอย

แต่คราวนี้คาราบาวขึ้นเวทีพร้อมกับวงดนตรีไทยเดิม แถมยังเป็นคอนเสิร์ต
ที่เลือกเพลงหนัก ๆ เนื้อหาสาระแน่น ๆใช้พลังในการร้องและเล่นเยอะ ๆ

ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าตาก,นเรศวรมหาราช,บัวลอย,กอทูเล ฯลฯ

ต้องชื่นชมและปรบมือยาวๆให้กับทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ตครั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็น ทีมเว็ปไซต์คาราบาว 2524
และทีมงานของ ดร.วรัตต์ อินทสระ

ซึ่งมองหน้าตาแล้วไม่น่าจะเรียกว่า
มืออาชีพในการจัดคอนเสิร์ต
แต่ต้องบอกว่าพวกเขาคือมืออาชีพ

ในการเรียงร้อยบทเพลงในการนำเสนอ

เพราะว่าลื่นไหล สอดคล้องและผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว
เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบที่พวกตัวเองอยากฟัง
เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบแฟนพันธุ์แท้คาราบาวที่อยากเห็น
อยากได้ยินยืนยง โอภากุลร้องเพลงแบบคาราบาวแท้ ๆ
บนเวทีสด ๆ แบบนี้

ต้องขอคารวะด้วยความจริงใจ

ถ้าแอ๊ด คาราบาว ไม่รักพวกคุณและไม่เห็นถึงความตั้งใจ
ในการทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์การค้าใด ๆ
แอบแฝง ฟันธงทิ้งไปได้เลยว่า ล้านเปอร์เซ็นต์ !!
เพลงเหล่านี้ไม่มีทางได้ยินบนเวทีคอนเสิร์ตอย่างแน่นอน



เพราะทุกเพลงใช้พลังเยอะมากนี่ขนาดยอมเพราะรักนะ
น้าแอ๊ดยังร้องไปบ่นไปนะว่า ใช้พลังเยอะจริง ๆ
ต้องออกกำลังกายเป็นเดือนกว่าจะฟิตพอจะมายืนร้องเพลงยาก ๆ

นานถึง ๔ ชั่วโมง!!

สุดยอดครับทั้งคาราบาวและพวกคุณ-คนจัดงาน
ขอบคุณมากที่ทำให้คนที่ฟังเพลงคาราบาวมากว่า ๒๐ ปี
มีความสุขอีกครั้ง
........................................................................................


เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์ อยู่ในวงการน้ำหมึกในฐานะนักข่าว นักเขียน
บรรณาธิการนิตยสารและเจ้าของสำนักพิมพ์ ข้อความข้างต้นได้มาจาก
ความประทับที่ เอก ได้มีโอกาสไปชมการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนั้น
แล้วส่งบทความนี้มาให้อ่านก่อนทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์
ก่อนที่หนังสือพิมพ์สยามดา ราจะลงตีพิมพ์หลังวันงานราวหนึ่งสัปดาห์


เสียงสะท้อนจากแฟนเพลงอีกคนหนึ่งเขียนถึงคอนเสิร์ตเดียวกันผ่าน
ทางบล็อกส่วนตัว http://www.oknation.net/blog/print.php?id=461889
ขออนุญาตนำบางส่วน (ที่ขัดเกลาภาษาบางช่วงบางตอน)
มาบันทึกไว้ที่นี่

บันทึกไว้เพื่อเป็นกำลังใจ แรงบันดาลใจ ให้แก้ไขงาน
ในครั้งต่อไป ถ้ายังมีโอกาสได้ทำคอนเสิร์ต (ที่คิดว่าจะ)
ดีดีอีกสักครั้ง


เชิญอ่านอีกหนึ่งความคิดเห็น


นาฬิกาบนหน้าจอโทรศัพท์บอกเวลาห้าทุ่มสี่สิบห้านาที
ฉันเดินทอดน่อง อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ยังหลงเหลือนักศึกษานั่งคุยกัน อยู่ตามใต้ตึกของคณะต่างๆ
บ้างประปราย

กว่าสามสิบนาทีจากโรงละครสำนักพิพิธภัณฑ์ ถึงข้างคณะวิศวะฯ
นึกถึงเรื่องราวที่เพิ่งผ่านไปเมื่อครู่

อาหารมื้อสุดท้ายที่ตกถึงท้อง คือเมื่อเที่ยงวันที่ผ่านมา
ตอนนี้เที่ยงคืน สิบสองชั่วโมงเข้าไปแล้ว แวะกินข้าวต้มโต้รุ่ง
ใต้ถุนแฟลต ๒๑ ห้วยขวางถิ่นเก่า

"นับจากวันที่ชายคนชื่อบัวลอยล้มหายไปจากเพื่อนฝูง
มะโหนกคนที่เคยทำนา ก็บากหน้าไปเป็นพลทหาร ...."

เสียงเพลงถึกควายทุย ภาค ๗ รอบที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้
ส่งฉันถึงบ้านแบบหมดพลังงาน สำนึกแรกรู้สึกตัวตื่น
ไขว่คว้าหาหนังสือที่หัวเตียง "เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด"
หนังสือเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นคอนเสิร์ต อ่านรวดเดียวจบ พร้อมกับร้อง

“อ๋อ ๆ ๆ ๆ” ไปเป็นระยะๆ

หนึ่งชั่วโมงแรกของคอนเสิร์ต ฉันรู้สึกตะหงิดๆ
ถึงฉันจะไมใช่นักร้อง นักดนตรี แต่ก็รู้สึกได้ทันทีว่าคุณภาพเสียงไม่ดี
แสงยิ่งไม่ต้องพูดถึง หมดอารมณ์ถ่ายภาพไปมากโขทีเดียว

"แฟนคาราบาวกี่คนที่เคยวาดหวังไว้ว่าสักครั้งในชีวิต
จะมีโอกาสได้ทำงานกับคาราบาว หรือคิดว่าสักวันหนึ่ง
จะมีโอกาสรวมกลุ่มแฟนคาราบาว เพื่อร่วมกันเสพงานที่ร่วมกันสร้าง
ร่วมฟังเพลงที่ไม่สามารถหาฟังได้ในวงเหล้าหรือโคนต้นไผ่
ความไม่ใช่มืออาชีพในการจัดการแสดงนั่นเป็นอุปสรรคใหญ่
แต่ถูกทดแทนด้วยความตั้งใจจริงของหลายๆ หัวใจที่มัดไว้รวมกัน"


คอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนเพลงที่รักคาราบาว
และเบื่อความซ้ำซากของเพลงที่เล่นประจำอยู่ตามผับ
ทีมงานหลายชีวิตกับสี่ร้อยกว่าวัน ทั้งผลักทั้งดัน จนเกิดงาน
คอนเสิร์ตถูกคอนเซ็พ (ฉัน) ในครั้งนี้

แล้ววันนี้เราก็มีโอกาสได้ยิน เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ, สาธุชน, ลุงฟาง,
อองซานซูจี, ดาวแห่งโดม, คิดถึงสุรพล, จ้อนนอนเล่น, นายขนมต้ม,
กอทูเล ฯลฯ


น้าแอ๊ดร้อง 'คิดถึงสุรพล' ได้สุดยอดมากครับ (ปรบมือ)

หนังสือเล่มนี้บอกเรื่องราวทุกอย่างสี่ร้อยกว่าวัน
กว่าที่จะมาเป็นคอนเสิร์ตในครั้งนี้

ทำไมต้องคาราบาวกับขุนอิน
ทำไมต้องตั้งชื่อการแสดงว่า เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด

ทำไมต้องแสดงที่โรงละครสำนักพิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์ฯลฯ

"ตั้งแต่ดูคอนเสิร์ตคาราบาวมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น คอนเสิร์ตเล็ก
คอนเสิร์ตใหญ่ไล่ดูมาหมด ไม่เคยคิดเลยว่าวันนี้ต้องเข้ามา
เป็นคนคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มคนที่จัดงานคอนเสิร์ตศิลปินที่เราบ้าคลั่ง
มาตลอดชีวิต เคยแต่เป็นคนดูที่นั่งดู นั่งฟัง เก็บเกี่ยวความสวยงาม
ความมัน

แต่ตอนนี้เป็นไงล่ะ

What a fuck!! อะไรกันนักกันหนา (วะ) เนี่ย”

อ่านหนังสือจบก็รู้สึกขึ้นมาเองว่า
งานเมื่อคืนเป็นงานที่สุดยอดมากครับ

ยิ่งชั่วโมงท้ายๆ รู้สึกได้ถึงสปิริตของน้าแอ๊ดเป็นอย่างยิ่ง
(ปรบมือ)


"สำหรับแฟนเพลงคาราบาว เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ซุกซ่อนตัวอยู่
อย่างไม่เปิดเผย มาดูคาราบาวด้วยความชื่นชมดนตรีในแบบของคาราบาว
เมื่อการแสดงจบลงก็เก็บเกี่ยวความสุขกลับออกไปอย่างไร้ร่องรอย
เพื่อรอวันที่จะกลับมาใหม่ในโอกาสต่อไป"


เคยถามใครสักคน เมื่อเห็นเค๊าทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยจะเข้าใจว่า

"ทำแล้วได้อะไร?"
ได้ทำไง เขาตอบ
"เออ งั้นทำไป" ฉันตอบ

ขอบคุณ ทีมงานทุกคนสำหรับการลงแรงลงใจ
จนเกิดความประทับใจที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

ยืนยันว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ชนะใจคนดู

ถ้ายังไม่เข็ด จัดอีกนะ จะไปดู สัญญา

การที่มีคาราบาวอยู่บนเวที และเรานั่งฟัง
อยู่ข้างล่าง นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

หมายเหตุ : ข้อความตัวเอียง คัดลอกจากหนังสือ "
เรื่องราวเขาควายและไม้ระนาด"

............................................................................


ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน ความรู้สึกของแฟนเพลง
ทั้งสองคนนี้จะถึงมือนักดนตรีคาราบาวทุกคนในวันหนึ่ง

เพื่อบอกให้คาราบาวรู้ว่า

ยังมีเพลงอีกหลายเพลงที่แฟนเพลงอยากได้ยิน อยากได้ฟัง
คาราบาวเล่นสด ๆ บนเวที ก่อนที่จะตาย

ไม่ได้กล่าวเกินกว่าที่เป็นจริง

"ได้ฟังเพลงดาวแห่งโดม สด ๆ บนเวที แค่นี้ก็ไม่เสียชาติเกิด"

ประโยคข้างบน
มีแฟนคาราบาวที่ศรัทธาในธรรมศาสตร์ และ
รัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ พูดให้ผมฟังด้วยอารมณ์เต็มตื้น

หลังคอนเสิร์ตในคืนนั้น.

ภาพประกอบบทความจาก www.carabao2524.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น