วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง


ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้าใจในวิถีพอเพียง
(เรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง)

"ผู้หญิงคนหนึ่ง" ที่เคยมีชีวิตที่สนุกสนานท่ามกลางแสงสีและเพื่อนฝูง
ท่ามกลางกลิ่นควันบุหรี่ไม่สามารถกลบกลิ่นแอลกอฮอล์ที่คละคลุ้ง

เวลาผ่านไปหลังตีสอง ถึงเวลาที่ต้องพยุงร่างกลับบ้านด้วยอาการปวดมึน
สุขภาพที่ดีถูกกัดกร่อนลงทีละน้อยจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทุกเสาร์และอาทิตย์ไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แม้วันธรรมดาจะตื่นเช้ากว่า
ก็เร่งรีบจนละเลยความงามจากธรรมชาติ

ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์และห้องประชุม ๕ วันต่อสัปดาห์ ๘ ชั่วโมงต่อวัน
แลกกับค่าจ้างเล็กน้อยที่พอจะผ่อนรถมือสองคันเล็ก ๆ
กับค่าเช่าที่อยู่ ขนาดแค่แมววิ่ง ๑๐๐ รอบเหงื่อยังไม่ซึม
กับเงินส่วนที่กันไว้สำหรับให้รางวัลตัวเองทุกสุดสัปดาห์
เมื่อร่างกายรับไม่ไหว จึงส่งสัญญาณเตือนด้วยอาการไข้ต่ำ ๆ

พักร่างกายบ้างเถอะ

ตอนสายของวันที่ได้พัก เธอมีซีดีเพลงคาราบาวที่เคยฝากเอาไว้ให้
วงดนตรีที่ไม่คิดจะหยิบมาฟัง โชคดีเหลือเกินที่
“อัลบั้มหากหัวใจยังรักควาย” ถูกวางไว้บนสุด มีหนังสือเล่มเล็กปกสีเหลืองสดใส
ชื่อ “มารวมเป็นคนพ.ศ.พอเพียง”

ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งถึงจุดเริ่มต้อนเปลี่ยนแปลง

“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้
แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข
ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่าง
ของเศรษฐกิจหรือระบบพอเพียง
พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น
ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง
ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”
(พระราชดํารัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2541)


แก่นแท้ของชีวิตที่พอเพียงไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง
ไม่ใช่นิยามความเชย ที่คนรักวัตถุนิยมแอบคิดอยู่ในใจ หากแต่คือ
การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล และพอประมาณมีเพียงความสุขขั้นพื้นฐาน

วันที่โลกถูกระบบทุนนิยมเข้าครอบครอง ผู้คนเดินขวักไขว่สวนกันไปมา
อย่างรีบเร่งจนลืมมองท้องฟ้า

ลืมมองคนที่เดินผ่าน

นัยยะของพฤติกรรมนี้บอกเราว่า คนเราก็เพียงแค่วิ่งตามความสุข
ที่อยู่บั้นปลายชีวิตด้วยความเชื่อที่ถูกฝังแน่นอยู่ในหัวว่า
ชีวิตต้องทำงานและดิ้นรนแก่งแย่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดปลอดภัย
ในภายภาคหน้า

บางครั้งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า วัตถุที่เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความสุข
ที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นมา การครอบครองรถยนต์ราคาแพง
หรือกระเป๋ายี่ห้อดังก็เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงรสนิยมเท่านั้น
เป็นเพียงแค่ความฉาบฉวยครั้งคราว นอกจากจะไม่ยั่งยืนอยู่ทน
ยังมาเอาจิตวิญญาณความสงบของเราไปด้วย

ความสุขที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่ไกลจนถึงขนาดต้องวิ่งตาม
ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เพียงแค่เก็บเกี่ยวและเดินช้า ๆ
เพื่อลองฟังเสียงหัวใจเต้นดูบ้าง ชีวิตที่หรูหราที่ว่าดีนักหนานั้น
ไม่ใช่วิถีดีที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด สุขแบบตูมตามครั้งเดียว
แล้วหาไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต หรือจะสู้สุขทีละนิด
แต่สุขนาน ๆ ได้ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยหรูหรา
มาสู่วิถีสามัญที่ยั่งยืนดีกว่า

“ฟางเส้นนี้ดูบอบบางและไร้น้ำหนัก และคนส่วนมากก็ไม่อาจรู้ว่าแท้จริงแล้ว
มันมีน้ำหนักมากขนาดไหน หากผู้คนรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของฟางนี้
การปฏิวัติของมนุษยชาติก็จะเกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติที่ทรงพลังเพียงพอ
ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศและโลกทั้งโลกเลยทีเดียว”
(มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว”
สำนวนแปล ของรสนา โตสิตระกูล

เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลง “ลุงฟาง” (คาราบาว) เพลงดีที่ไม่มีที่ยืนในยุคทุนนิยม
สิ่งที่ เรียนรู้ได้จากเพลงนี้คือ “ความพอเพียง”

(เสียงเพลง “ลุงฟาง” ดังเอื่อย ๆ ผ่านลำโพงจากเครื่องคอมพิวเตอร์)

“...เป็นกระท่อมฟางไม่ร้างไม่ไร้ผู้คน ห่างไกลชุมชนสับสนแย่งชิง...”

“...ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะ ค้นหาตัวตนบนความสันโดษ...”

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนา
แทบทุกประเทศในโลกได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก
เป็นหลัก ตามรอย “เกษตรกระแสหลัก” ของประเทศโลกตะวันตก
ซึ่งวิธีนี้แปลว่าเกษตรกรต้องละทิ้งวิธีการเพาะปลูกแบบโบราณ
โดยใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่นปุ๋ยหมักและมูลสัตว์ หันมาใช้ปุ๋ยเคมีและ
ยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตแทน

ปัจจุบัน ผลเสียจากวิธีการเพาะปลูกที่เน้นการ “เอาชนะธรรมชาติ”
การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลให้ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังทับถมกัน
ปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ เหมาะแก่การเพาะปลูก
ถูกทำลายหมดไปภายในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี คุณภาพดินเสื่อมลง
ส่งผลให้พืชพันธุ์อ่อนแอและผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งสารเคมี
และเครื่องจักรมากกว่าเดิม

เกษตรกรจำนวนหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีเกษตรกรรมแบบ “อยู่ร่วม” แทนที่จะ “เอาชนะ”

โดยหันหลังให้กับเกษตรกระแสหลัก อาศัยกระบวนการอันซับซ้อนเกื้อกูลกัน
ของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจอย่างถ่องแท้ แทนที่สารเคมีทุกชนิด
ไม่เพียงแต่จะเป็นทางเลือกที่ “เป็นไปได้” เท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ “ดีกว่า”
เกษตรกระแสหลักอีกด้วย

เราอาจเรียกเกษตรกรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดกว้างๆ นี้ ซึ่งมีรูปแบบและชื่อเรียก
หลากหลาย ตั้งแต่

เกษตรผสมผสาน

เกษตรยั่งยืน

ไร่นาสวนผสม

วนเกษตร

เกษตรอินทรีย์

เกษตรปลอดสารพิษ

เกษตรถาวร
ตลอดจนแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือ
เกษตรพอเพียง และเกษตร “ทฤษฎีใหม่” รวมกันว่า “เกษตรก้าวหน้า”

หนึ่งใน “เกษตรกรก้าวหน้า” ผู้มีอิทธิพลมหาศาลคือเกษตรกร
อดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka)
เขาได้เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกระแสหลักตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๓๐
ค้นคว้าทดลองจนพบทางออก เชื่อมั่นว่าแก่นสารของทางออกนั้น
มีความเป็นสากลที่นำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก และเรียบเรียงทางออกนั้นออกมา
เป็นหนังสือชื่อ

“ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (The One-Straw Revolution)
ในปี ๑๙๗๕ซึ่ งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณรสนา โตสิตระกูล
และวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปี ๑๙๘๗

.........................................................

เพลง “พออยู่พอกิน” ที่ผู้หญิงคนนั้นได้ฟัง ซ้ำเป็นรอบที่ ๔
ทำให้เธอซาบซึ้งกับแนวคิดของฟูกูโอกะได้ ดียิ่งขึ้น
เพราะแนวคิดนั้นเป็นมากกว่า “ทฤษฏีการเกษตร” หากเป็นปรัชญา
ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ความพอเพียงในชีวิตจริงคืออะไร ?

หลายคนมีรถยนต์ไว้ใช้งานเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง
แต่ก็มีอีกหลายคนมีรถยนต์เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับบารมี
ประโยชน์ของมันที่แท้แค่เพียงส่งเราถึงที่หมายในแต่ละวัน
แต่สิ่งที่ต้องแลกคือน้ำมันที่แพงประหนึ่งทอง กับมลพิษที่ต้องพ่นระบาย
ออกไปในอากาศ

หากมองถึงเพียงประโยชน์และหน้าที่ของรถยนต์ นั่งรถโดยสารประจำทาง
ก็เหมือนกัน ถึงที่หมายได้เหมือนรถยนต์ แม้จะต้องแลกด้วยเหงื่อเพียงเล็กน้อย
และอาจต้องตื่นเช้ามากกว่าเดิม ได้เดินมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือ แข็งแรงขึ้น
เห็นโลกมากขึ้น เพราะบนรถเมล์มีผู้คนทุกระดับให้ได้เรียนรู้ ประหยัดขึ้น
ทำให้การจราจรในเมืองหลวงแออัดน้อยลง มลพิษน้อยลง ขึ้นรถเมล์
รถไฟฟ้าไม่ได้ลำบากยากเข็ญเกินกว่าแรงจะรับไหว
ให้ถือเป็นเพียงหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ต้องพบเจอทุกวันเป็นเรื่องธรรมดา

บางคนมีความสุขกับการได้กินของแพง กินของนอก ทั้งที่รสชาติและคุณค่า
ไม่ได้แตกต่างกัน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกินเพียงอิ่ม แต่ครบถ้วนไปด้วยคุณค่า
สารอาหารที่จำเป็นในชีวิต บริโภคอย่างพอเพียง เพื่อให้ชีวิตอยู่ได้อย่างเพียงพอ

ของแพงไม่ได้แปลว่าอร่อย ภัตตาคารหรูไม่ได้แปลว่าสะอาดกว่าฝีมือแม่
หรือภรรยา ลองปลูกพืชผักสวนครัวกินเองดูบ้าง คุณอาจพบว่า เวลากินผลผลิต
จากมือตัวเอง ความภาคภูมิใจนั้น

เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดที่หากินที่ไหนไม่ได้ในโลก

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมมาในบัตรเครดิตในแต่ละเดือน คือการรูดซื้อเสื้อผ้า
ของประดับที่ไม่จำเป็นในชีวิต รางวัลชีวิตที่แท้จริงที่ควรมอบให้ตัวเอง
ไม่ได้มีแค่วัตถุที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ตัดค่าใช้จ่ายในชีวิตที่ทำให้ชีวิตรกรุงรัง
ซื้อของเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เพียงในยุคน้ำมันแพง แต่ทุกยุคทุกสมัย

เรื่องประหยัดเป็นเรื่องฉลาดที่คนเราควรหัดไว้ให้เป็นนิสัย ใช้เงินประหยัด
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใช้ แต่หมายถึงใช้เงินให้คุ้มค่า และมีประโยชน์สูงสุด
ชีวิตในสังคมเมือง เป็นความวุ่นวายท่ามกลางชีวิตที่โดดเดี่ยว
ต่างคนต่างทำหน้าที่ ขวนขวายแก่งแย่ง เวลาที่เหนื่อยสาหัสคุณอาจฉุกคิดได้ว่า
ตัวตนของเราไม่ใช่แบบนี้ มองซ้ายเป็นตึก มองขวาเป็นถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน
หาเวลากลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติบ้าง

แรงบันดาลใจดี ๆ ในการใช้ชีวิตอาจมีมากขึ้น เพราะ

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กลับคืนเมื่อไหร่ก็ไม่มีวันขวยเขิน

มีความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธทางปัญญา

เทรนด์การตลาดที่ร้อนแรง ก็ไม่อาจพรากเอาตัวตนกลมกลืน
ไปเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดได้ มีวิจารณญาณในการบริโภค
เลือกในสิ่งที่ชีวิตคุณต้องการ ไม่ใช่เชื่อที่มีคนบอกว่า ชีวิตต้องมีแบบนั้น
ต้องการแบบนี้ ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ คนไทยมีอะไรหลายอย่าง
ที่ต่างชาติไม่มี

แม้ในทางกลับกัน เราก็อาจจะไม่มีในสิ่งที่เขาครบครัน
ความไม่มีไม่ได้หมายความว่าขาด บางคราก็อาจจะไม่เหมาะกับวิถีของเรา
ระเบิดจากภายใน มองเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว แล้วขยายวงสู่เรื่องใหญ่ ๆ ระดับชาติ
ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่แก่งแย่ง ไม่แข่งขัน
เพียงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บ้านเราทำน้ำพริกอร่อย ก็แบ่งปันให้ข้างบ้าน

ป้าข้างบ้านฝีมือทำแกงรสชาติดี ก็แบ่งให้บ้านเราช่วยชิม
หรือบางทีที่ไม่มีรถยนต์ขับอาจเป็นเพราะคุณไม่เหมาะกับการขับรถด้วยตัวเอง
สินค้าแบรนด์เนมอาจไม่เหมาะกับบุคลิก

แก่นแท้ของความสุข ไม่มีขายที่ห้างสรรพสินค้า ไม่สามารถสั่งซื้อ
ทางอินเทอร์เน็ต ร่างกายและหัวใจที่เหนื่อยล้า อาจเป็นเพราะใช้เวลา
เกือบทั้งหมดวิ่งตามหาวัตถุ ความรู้จักพอเพียง-เพียงพอ(อาจ)ทำได้ยาก
สำหรับสังคมที่มีตารางของการแข่งขัน แต่ถ้าตั้งใจแล้วมุ่งมั่นเพื่อข้ามผ่าน
ทะเลใจของตัวเอง ความสุขที่แท้และยั่งยืนจะงดงามพอเพียงตามวิถีธรรมชาติ

ชีวิตจริงของผู้หญิงคนนั้น (ในเวลาต่อมา) หลังจากเธอได้ฟังเพลง
“คาราบาว” หลายชุด หลายเพลง หลายครั้ง ชีวิตที่เธอไม่คิดว่าจะมี
“คาราบาว” เป็นต้นแบบ ก็เปลี่ยนไป เพราะเธอพยายามค้นหาความหมาย
และปรัชญาที่ซุกซ่อนอยู่ในเพลงเหล่านั้น จนเจอด้วยตัวเธอเอง

เมื่อเข้าใจในวิถีใหม่ – วิถีที่พอเพียง
ชีวิตที่เคยสนุกสนานท่ามกลางแสงสีและเพื่อนฝูง ควันบุหรี่และ
กลิ่นแอลกอฮอล์ ก็ไม่เคยเข้ามาในร่างกายอีกต่อไป ถึงแม้จะมีบ้าง
ก็เป็นเพียงเพื่อเข้าพวกตามสังคมนิยมเท่านั้น ร่างกายเธอแข็งแรงและสดใส
มีสุขภาพที่ดีจากการพักผ่อนที่เพียงพอ ที่ได้จากการเรียนรู้ความพอเพียง

ทุกเช้าเธอตื่นขึ้นมาแล้วมีโอกาสได้มองเห็นแสงสีทองจากขอบฟ้า
เป็นความงามจากธรรมชาติที่น่าเสียดายหากไม่ได้เห็น
แม้ว่าชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์และห้องประชุม ๕ วันต่อสัปดาห์ ๘ ชั่วโมงต่อวัน
จะยังคงอยู่เหมือนชีวิตก่อนหน้านี้ รายได้ถึงจะเท่าเดิม แต่เมื่อตัดส่วนที่เกิน
จากความจำเป็น ก็เพียงพอที่จะผ่อนรถมือสองคันเล็ก ๆ กับค่าผ่อนที่อาศัย
ขนาด ๒๕ ตารางวา ห้องริมด้านซ้ายที่มีพื้นที่เพิ่มจากห้องเช่าเดิมอยู่ไม่น้อย

แล้วยังเหลือพื้นที่ข้างรั้วไว้ปลูกผักเก็บกินเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น