วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง


ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้าใจในวิถีพอเพียง
(เรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่ง)

"ผู้หญิงคนหนึ่ง" ที่เคยมีชีวิตที่สนุกสนานท่ามกลางแสงสีและเพื่อนฝูง
ท่ามกลางกลิ่นควันบุหรี่ไม่สามารถกลบกลิ่นแอลกอฮอล์ที่คละคลุ้ง

เวลาผ่านไปหลังตีสอง ถึงเวลาที่ต้องพยุงร่างกลับบ้านด้วยอาการปวดมึน
สุขภาพที่ดีถูกกัดกร่อนลงทีละน้อยจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทุกเสาร์และอาทิตย์ไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ขึ้น แม้วันธรรมดาจะตื่นเช้ากว่า
ก็เร่งรีบจนละเลยความงามจากธรรมชาติ

ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์และห้องประชุม ๕ วันต่อสัปดาห์ ๘ ชั่วโมงต่อวัน
แลกกับค่าจ้างเล็กน้อยที่พอจะผ่อนรถมือสองคันเล็ก ๆ
กับค่าเช่าที่อยู่ ขนาดแค่แมววิ่ง ๑๐๐ รอบเหงื่อยังไม่ซึม
กับเงินส่วนที่กันไว้สำหรับให้รางวัลตัวเองทุกสุดสัปดาห์
เมื่อร่างกายรับไม่ไหว จึงส่งสัญญาณเตือนด้วยอาการไข้ต่ำ ๆ

พักร่างกายบ้างเถอะ

ตอนสายของวันที่ได้พัก เธอมีซีดีเพลงคาราบาวที่เคยฝากเอาไว้ให้
วงดนตรีที่ไม่คิดจะหยิบมาฟัง โชคดีเหลือเกินที่
“อัลบั้มหากหัวใจยังรักควาย” ถูกวางไว้บนสุด มีหนังสือเล่มเล็กปกสีเหลืองสดใส
ชื่อ “มารวมเป็นคนพ.ศ.พอเพียง”

ชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งถึงจุดเริ่มต้อนเปลี่ยนแปลง

“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้
แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข
ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่าง
ของเศรษฐกิจหรือระบบพอเพียง
พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น
ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง
ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”
(พระราชดํารัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : 4 ธันวาคม 2541)


แก่นแท้ของชีวิตที่พอเพียงไม่ใช่การถอยหลังเข้าคลอง
ไม่ใช่นิยามความเชย ที่คนรักวัตถุนิยมแอบคิดอยู่ในใจ หากแต่คือ
การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล และพอประมาณมีเพียงความสุขขั้นพื้นฐาน

วันที่โลกถูกระบบทุนนิยมเข้าครอบครอง ผู้คนเดินขวักไขว่สวนกันไปมา
อย่างรีบเร่งจนลืมมองท้องฟ้า

ลืมมองคนที่เดินผ่าน

นัยยะของพฤติกรรมนี้บอกเราว่า คนเราก็เพียงแค่วิ่งตามความสุข
ที่อยู่บั้นปลายชีวิตด้วยความเชื่อที่ถูกฝังแน่นอยู่ในหัวว่า
ชีวิตต้องทำงานและดิ้นรนแก่งแย่งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดปลอดภัย
ในภายภาคหน้า

บางครั้งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า วัตถุที่เป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความสุข
ที่มนุษย์อุปโลกน์ขึ้นมา การครอบครองรถยนต์ราคาแพง
หรือกระเป๋ายี่ห้อดังก็เป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงรสนิยมเท่านั้น
เป็นเพียงแค่ความฉาบฉวยครั้งคราว นอกจากจะไม่ยั่งยืนอยู่ทน
ยังมาเอาจิตวิญญาณความสงบของเราไปด้วย

ความสุขที่ยั่งยืนไม่ได้อยู่ไกลจนถึงขนาดต้องวิ่งตาม
ทุกอย่างอยู่ที่ใจ เพียงแค่เก็บเกี่ยวและเดินช้า ๆ
เพื่อลองฟังเสียงหัวใจเต้นดูบ้าง ชีวิตที่หรูหราที่ว่าดีนักหนานั้น
ไม่ใช่วิถีดีที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด สุขแบบตูมตามครั้งเดียว
แล้วหาไม่ได้อีกเลยตลอดชีวิต หรือจะสู้สุขทีละนิด
แต่สุขนาน ๆ ได้ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยหรูหรา
มาสู่วิถีสามัญที่ยั่งยืนดีกว่า

“ฟางเส้นนี้ดูบอบบางและไร้น้ำหนัก และคนส่วนมากก็ไม่อาจรู้ว่าแท้จริงแล้ว
มันมีน้ำหนักมากขนาดไหน หากผู้คนรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงของฟางนี้
การปฏิวัติของมนุษยชาติก็จะเกิดขึ้น เป็นการปฏิวัติที่ทรงพลังเพียงพอ
ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศและโลกทั้งโลกเลยทีเดียว”
(มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ, “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว”
สำนวนแปล ของรสนา โตสิตระกูล

เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลง “ลุงฟาง” (คาราบาว) เพลงดีที่ไม่มีที่ยืนในยุคทุนนิยม
สิ่งที่ เรียนรู้ได้จากเพลงนี้คือ “ความพอเพียง”

(เสียงเพลง “ลุงฟาง” ดังเอื่อย ๆ ผ่านลำโพงจากเครื่องคอมพิวเตอร์)

“...เป็นกระท่อมฟางไม่ร้างไม่ไร้ผู้คน ห่างไกลชุมชนสับสนแย่งชิง...”

“...ดำเนินชีวิตตามหลักธรรมะ ค้นหาตัวตนบนความสันโดษ...”

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนา
แทบทุกประเทศในโลกได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก
เป็นหลัก ตามรอย “เกษตรกระแสหลัก” ของประเทศโลกตะวันตก
ซึ่งวิธีนี้แปลว่าเกษตรกรต้องละทิ้งวิธีการเพาะปลูกแบบโบราณ
โดยใช้วัตถุดิบตามธรรมชาติ เช่นปุ๋ยหมักและมูลสัตว์ หันมาใช้ปุ๋ยเคมีและ
ยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตแทน

ปัจจุบัน ผลเสียจากวิธีการเพาะปลูกที่เน้นการ “เอาชนะธรรมชาติ”
การใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลให้ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพังทับถมกัน
ปะปนอยู่ในดิน ทำให้ดินมีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ เหมาะแก่การเพาะปลูก
ถูกทำลายหมดไปภายในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี คุณภาพดินเสื่อมลง
ส่งผลให้พืชพันธุ์อ่อนแอและผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรยิ่งต้องพึ่งสารเคมี
และเครื่องจักรมากกว่าเดิม

เกษตรกรจำนวนหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย
กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า วิถีเกษตรกรรมแบบ “อยู่ร่วม” แทนที่จะ “เอาชนะ”

โดยหันหลังให้กับเกษตรกระแสหลัก อาศัยกระบวนการอันซับซ้อนเกื้อกูลกัน
ของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่มีวันเข้าใจอย่างถ่องแท้ แทนที่สารเคมีทุกชนิด
ไม่เพียงแต่จะเป็นทางเลือกที่ “เป็นไปได้” เท่านั้น แต่ยังเป็นทางเลือกที่ “ดีกว่า”
เกษตรกระแสหลักอีกด้วย

เราอาจเรียกเกษตรกรรมที่อยู่ภายใต้แนวคิดกว้างๆ นี้ ซึ่งมีรูปแบบและชื่อเรียก
หลากหลาย ตั้งแต่

เกษตรผสมผสาน

เกษตรยั่งยืน

ไร่นาสวนผสม

วนเกษตร

เกษตรอินทรีย์

เกษตรปลอดสารพิษ

เกษตรถาวร
ตลอดจนแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ คือ
เกษตรพอเพียง และเกษตร “ทฤษฎีใหม่” รวมกันว่า “เกษตรก้าวหน้า”

หนึ่งใน “เกษตรกรก้าวหน้า” ผู้มีอิทธิพลมหาศาลคือเกษตรกร
อดีตนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ (Masanobu Fukuoka)
เขาได้เล็งเห็นปัญหาของเกษตรกระแสหลักตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๓๐
ค้นคว้าทดลองจนพบทางออก เชื่อมั่นว่าแก่นสารของทางออกนั้น
มีความเป็นสากลที่นำไปปรับใช้ได้ทั่วโลก และเรียบเรียงทางออกนั้นออกมา
เป็นหนังสือชื่อ

“ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” (The One-Straw Revolution)
ในปี ๑๙๗๕ซึ่ งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณรสนา โตสิตระกูล
และวางจำหน่ายแล้วตั้งแต่ปี ๑๙๘๗

.........................................................

เพลง “พออยู่พอกิน” ที่ผู้หญิงคนนั้นได้ฟัง ซ้ำเป็นรอบที่ ๔
ทำให้เธอซาบซึ้งกับแนวคิดของฟูกูโอกะได้ ดียิ่งขึ้น
เพราะแนวคิดนั้นเป็นมากกว่า “ทฤษฏีการเกษตร” หากเป็นปรัชญา
ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ความพอเพียงในชีวิตจริงคืออะไร ?

หลายคนมีรถยนต์ไว้ใช้งานเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทาง
แต่ก็มีอีกหลายคนมีรถยนต์เป็นเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับบารมี
ประโยชน์ของมันที่แท้แค่เพียงส่งเราถึงที่หมายในแต่ละวัน
แต่สิ่งที่ต้องแลกคือน้ำมันที่แพงประหนึ่งทอง กับมลพิษที่ต้องพ่นระบาย
ออกไปในอากาศ

หากมองถึงเพียงประโยชน์และหน้าที่ของรถยนต์ นั่งรถโดยสารประจำทาง
ก็เหมือนกัน ถึงที่หมายได้เหมือนรถยนต์ แม้จะต้องแลกด้วยเหงื่อเพียงเล็กน้อย
และอาจต้องตื่นเช้ามากกว่าเดิม ได้เดินมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้คือ แข็งแรงขึ้น
เห็นโลกมากขึ้น เพราะบนรถเมล์มีผู้คนทุกระดับให้ได้เรียนรู้ ประหยัดขึ้น
ทำให้การจราจรในเมืองหลวงแออัดน้อยลง มลพิษน้อยลง ขึ้นรถเมล์
รถไฟฟ้าไม่ได้ลำบากยากเข็ญเกินกว่าแรงจะรับไหว
ให้ถือเป็นเพียงหนึ่งในกิจวัตรประจำวันที่ต้องพบเจอทุกวันเป็นเรื่องธรรมดา

บางคนมีความสุขกับการได้กินของแพง กินของนอก ทั้งที่รสชาติและคุณค่า
ไม่ได้แตกต่างกัน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกินเพียงอิ่ม แต่ครบถ้วนไปด้วยคุณค่า
สารอาหารที่จำเป็นในชีวิต บริโภคอย่างพอเพียง เพื่อให้ชีวิตอยู่ได้อย่างเพียงพอ

ของแพงไม่ได้แปลว่าอร่อย ภัตตาคารหรูไม่ได้แปลว่าสะอาดกว่าฝีมือแม่
หรือภรรยา ลองปลูกพืชผักสวนครัวกินเองดูบ้าง คุณอาจพบว่า เวลากินผลผลิต
จากมือตัวเอง ความภาคภูมิใจนั้น

เป็นอาหารที่อร่อยที่สุดที่หากินที่ไหนไม่ได้ในโลก

ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมมาในบัตรเครดิตในแต่ละเดือน คือการรูดซื้อเสื้อผ้า
ของประดับที่ไม่จำเป็นในชีวิต รางวัลชีวิตที่แท้จริงที่ควรมอบให้ตัวเอง
ไม่ได้มีแค่วัตถุที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ตัดค่าใช้จ่ายในชีวิตที่ทำให้ชีวิตรกรุงรัง
ซื้อของเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่เพียงในยุคน้ำมันแพง แต่ทุกยุคทุกสมัย

เรื่องประหยัดเป็นเรื่องฉลาดที่คนเราควรหัดไว้ให้เป็นนิสัย ใช้เงินประหยัด
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใช้ แต่หมายถึงใช้เงินให้คุ้มค่า และมีประโยชน์สูงสุด
ชีวิตในสังคมเมือง เป็นความวุ่นวายท่ามกลางชีวิตที่โดดเดี่ยว
ต่างคนต่างทำหน้าที่ ขวนขวายแก่งแย่ง เวลาที่เหนื่อยสาหัสคุณอาจฉุกคิดได้ว่า
ตัวตนของเราไม่ใช่แบบนี้ มองซ้ายเป็นตึก มองขวาเป็นถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน
หาเวลากลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เรียนรู้และอยู่กับธรรมชาติบ้าง

แรงบันดาลใจดี ๆ ในการใช้ชีวิตอาจมีมากขึ้น เพราะ

มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ กลับคืนเมื่อไหร่ก็ไม่มีวันขวยเขิน

มีความคิดสร้างสรรค์เป็นอาวุธทางปัญญา

เทรนด์การตลาดที่ร้อนแรง ก็ไม่อาจพรากเอาตัวตนกลมกลืน
ไปเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดได้ มีวิจารณญาณในการบริโภค
เลือกในสิ่งที่ชีวิตคุณต้องการ ไม่ใช่เชื่อที่มีคนบอกว่า ชีวิตต้องมีแบบนั้น
ต้องการแบบนี้ ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ คนไทยมีอะไรหลายอย่าง
ที่ต่างชาติไม่มี

แม้ในทางกลับกัน เราก็อาจจะไม่มีในสิ่งที่เขาครบครัน
ความไม่มีไม่ได้หมายความว่าขาด บางคราก็อาจจะไม่เหมาะกับวิถีของเรา
ระเบิดจากภายใน มองเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัว แล้วขยายวงสู่เรื่องใหญ่ ๆ ระดับชาติ
ชีวิตก็ดำรงอยู่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ไม่แก่งแย่ง ไม่แข่งขัน
เพียงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บ้านเราทำน้ำพริกอร่อย ก็แบ่งปันให้ข้างบ้าน

ป้าข้างบ้านฝีมือทำแกงรสชาติดี ก็แบ่งให้บ้านเราช่วยชิม
หรือบางทีที่ไม่มีรถยนต์ขับอาจเป็นเพราะคุณไม่เหมาะกับการขับรถด้วยตัวเอง
สินค้าแบรนด์เนมอาจไม่เหมาะกับบุคลิก

แก่นแท้ของความสุข ไม่มีขายที่ห้างสรรพสินค้า ไม่สามารถสั่งซื้อ
ทางอินเทอร์เน็ต ร่างกายและหัวใจที่เหนื่อยล้า อาจเป็นเพราะใช้เวลา
เกือบทั้งหมดวิ่งตามหาวัตถุ ความรู้จักพอเพียง-เพียงพอ(อาจ)ทำได้ยาก
สำหรับสังคมที่มีตารางของการแข่งขัน แต่ถ้าตั้งใจแล้วมุ่งมั่นเพื่อข้ามผ่าน
ทะเลใจของตัวเอง ความสุขที่แท้และยั่งยืนจะงดงามพอเพียงตามวิถีธรรมชาติ

ชีวิตจริงของผู้หญิงคนนั้น (ในเวลาต่อมา) หลังจากเธอได้ฟังเพลง
“คาราบาว” หลายชุด หลายเพลง หลายครั้ง ชีวิตที่เธอไม่คิดว่าจะมี
“คาราบาว” เป็นต้นแบบ ก็เปลี่ยนไป เพราะเธอพยายามค้นหาความหมาย
และปรัชญาที่ซุกซ่อนอยู่ในเพลงเหล่านั้น จนเจอด้วยตัวเธอเอง

เมื่อเข้าใจในวิถีใหม่ – วิถีที่พอเพียง
ชีวิตที่เคยสนุกสนานท่ามกลางแสงสีและเพื่อนฝูง ควันบุหรี่และ
กลิ่นแอลกอฮอล์ ก็ไม่เคยเข้ามาในร่างกายอีกต่อไป ถึงแม้จะมีบ้าง
ก็เป็นเพียงเพื่อเข้าพวกตามสังคมนิยมเท่านั้น ร่างกายเธอแข็งแรงและสดใส
มีสุขภาพที่ดีจากการพักผ่อนที่เพียงพอ ที่ได้จากการเรียนรู้ความพอเพียง

ทุกเช้าเธอตื่นขึ้นมาแล้วมีโอกาสได้มองเห็นแสงสีทองจากขอบฟ้า
เป็นความงามจากธรรมชาติที่น่าเสียดายหากไม่ได้เห็น
แม้ว่าชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์และห้องประชุม ๕ วันต่อสัปดาห์ ๘ ชั่วโมงต่อวัน
จะยังคงอยู่เหมือนชีวิตก่อนหน้านี้ รายได้ถึงจะเท่าเดิม แต่เมื่อตัดส่วนที่เกิน
จากความจำเป็น ก็เพียงพอที่จะผ่อนรถมือสองคันเล็ก ๆ กับค่าผ่อนที่อาศัย
ขนาด ๒๕ ตารางวา ห้องริมด้านซ้ายที่มีพื้นที่เพิ่มจากห้องเช่าเดิมอยู่ไม่น้อย

แล้วยังเหลือพื้นที่ข้างรั้วไว้ปลูกผักเก็บกินเอง.

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ดาวโป๊เมืองไทยกับสันดานอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์


ผู้หญิงคนไหนเกิดมาหน้าตาดี รูปร่างเด่น ถือว่าธรรมชาติได้สร้างโอกาส

มอบทุนส่วนตัวในการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาบในอนาคต โบราณกล่าวไว้ว่า


นารีมีรูปเป็นทรัพย์

แต่ความสวยเด่น ก็มีด้านลบอันเลวร้าย อาจนำภัยมาถึงตัวได้ง่ายกว่าธรรมดา

ทุนธรรมชาติก็เหมือนเหยื่อปลา ที่รอโดนสังคม ทำลายอย่างไร้เยื่อใย


แนท เกศรินทร์ ชัยเฉลิมพล


นักแสดงหนังแผ่นวีซีดีเรทอาร์ เรทเอ๊กซ์ ตกเป็นข่าว อย่างรู้เนื้อรู้ตัว
จนทำให้คนไทยมี Talk of the town ที่จัดอยู่ในประเภท Hot Issue

ตามหลังข่าวทักษิณ (หลอกคนไทย) ซื้อสโมสรลิเวอร์พูล

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์กับมายาแชลแนล คือสื่อมวลชนที่เปิดประเด็น

เล่นข่าวนี้ก่อนใคร


เรื่องนักแสดงอนาคต (เกือบ) ไกล เคยเล่นหนังเอ็กซ์

มาก่อนเข้าวงการ



ระเบิดข่าวลูกนี้ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อ

แนทกลายเป็นคนเล็ก ๆ ที่ไม่เคยมีใครใส่ใจ จนกลายเป็นคนที่สังคม

รู้จักแค่ข้ามคืน


หนังประเภทนี้ เป็นเรื่องที่เสพกันเฉพาะกลุ่ม แต่ยกเว้นในกรณีนี้

เพราะหลังตกเป็นข่าว หลายคนไม่ว่าหญิงหรือชาย ประกาศตนเสียงดังฟังชัดว่า


อยากดู อย่างไม่ลำบากใจที่จะเอ่ยปากขอก้อปปี้ ไว้สักแผ่น

เพื่อไม่ให้ตกกระแสสังคม

อย่างน้อยการเห็นภาพในวีซีดี ก็เป็นหัวข้อเพื่อการสนทนากลุ่ม

(Group Communication) กับเพื่อนร่วมงานหรือเพื่อนร่วมสังคมได้ในวันรุ่งขึ้น


คนที่ได้ดูแล้วก็ อิ่มหนำสำราญกับภาพอันโอฬารอลังการของนักแสดง


คนปั๊มซีดีก็อิ่มหนำสำราญกับยอดขายทะลุเป้า โดยไม่ต้องใช้งบโฆษณา


เป็นข้อพิสูจน์ว่า การสื่อสารแบบตัวต่อตัว หรือปากต่อปาก

(Word of Mouth) ยังเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดทุกยุคสมัย


ตัวนักแสดงเอง หลังจากตั้งหลักได้ตั้งตัวติด ก็เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

เริ่มอิ่มหนำสำราญ กับรายได้จากการโชว์ตัว ให้สัมภาษณ์และถ่ายแบบลงนิตยสาร

จงใจลืมคำพูดบางอย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้า ว่า


ถูกหลอกไปถ่าย



สื่อมวลชนผู้เปิดประเด็นอิ่มข่าวไปก่อนใคร แต่ก็ยังทิ้งเชื้อบางอย่างเพื่อ

รอขายข่าวเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย

ตำรวจมุ่งมั่นกวาดล้างจับกุมวีซีดีเรทเอ็กซ์อย่างเมามัน แต่ดูเหมือนยิ่งกวาดล้างเท่าไหร่


แนทแผ่น ๒ และแผ่น ๓


ก็หลบหนีการจับกุมของตำรวจไปตกอยู่ในมือประชาชนอย่างรวดเร็ว


ตำรวจทำประหนึ่งว่าเธอเป็นหญิงไทยคนแรกที่ถ่ายหนังเอ็กซ์ !!!!


ที่จริง เธอเป็นแค่หญิงไทยคนแรก ที่เล่นหนังเอ็กซ์

แล้วถูกตำรวจไทยจับได้ต่างหาก


ทุกฝ่ายกลายเป็นผู้สมประโยชน์พอกัน

ทิ้งร่องรอยความเจ็บปวดให้กับสังคมไทยไว้ข้างหลัง
จะโทษสื่อมวลชนก็ลำบากใจ เพราะหากหยิบทฤษฎี

Normative Theories of Media Performance ซึ่งมีส่วนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

สังคมเป็นแบบไหน สื่อมวลชนก็เป็นเช่นนั้น

ก็ในเมื่อสังคมไทย ยังเป็นสังคมที่สนุกสนานกับความอยากรู้อยากเห็น

เรื่องของคนอื่น


หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นกรณีศึกษาและยืนยันว่าทฤษฎีนี้เป็นจริง

ยอดขายล้านฉบับต่อวันมิใช่เรื่องได้มาโดยบังเอิญ


เราอยากรู้อยากเห็นกับข่าวฆ่ารายวัน ข่มขืนรายคืน ขูดตะเคียนขอหวย

สร้างคนถูกหวยให้เป็นฮีโร่ขึ้นหน้าหนึ่งทุกครึ่งเดือน


กรณีของแนท อยากให้คนไทยเรียกสติกลับมามองเรื่องนี้ ให้เป็นปัญหาสังคม

มิใช่ปัญหาส่วนบุคคล

มองในแง่ดี สังคมได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว

ที่พ่อแม่ต้องพยายามปลูกฝังค่านิยม ความเชื่อ ทัศนคติ เรื่องรักนวลสงวนตั

ของคนในครอบครัวให้เป็นวาระของครอบครัว


ความเข้มแข็งและความอบอุ่นละมุนละไมของสถาบันครอบครัว

เป็นเสมือนรากแก้วยึดโครงสร้างความเข้มแข็งของสังคมโดยรวม


มองในแง่ร้ายเธอ อาจเป็นตัวต้นแบบตามทฤษฎีตัวต้นแบบ

(Modeling Theory) กับวัยรุ่นบางกลุ่ม ซึ่งมีโอกาสจะเลียนแบบ

วิธีการดำเนินชีวิต หรือ ยอมรับการฉีกกฏขนบธรรมเนียมไทย

โดยไม่ยี่หระต่อความรู้สึกของใคร

ค่านิยมเรื่องเซ็กส์เพื่อเงินอาจจะลุกลามใหญ่โต จนไร้หนทางแก้ไข

และกลายเป็น อีกเรื่องที่ตกไปอยู่ใน


ลัทธิยอมจำนน


สื่อมวลชน คือผู้เปิดประเด็นที่ไร้ค่าและขาดสาระให้กับประชาชน

ตำรวจไทยเลือกใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเข้มข้น จนละเลยหลักมนุษยศาสตร์

ที่มุ่งเน้นความเป็นคน
มุ่งมั่น (เหลือกิน) ที่จะไล่จับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง

โดยขาดความรอบคอบและไตร่ตรองถึงผลกระทบทางสังคม


เธอ ทำให้คนไทยอีกหลายคนย้อนไปนึกถึงความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว

การแพร่กระจายของวีซีดีนับล้านแผ่น ได้ยืนยันข้อข้อสันนิษฐานที่อยู่ในใจอยู่ตลอดมา


คือ

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวันนี้

ทำให้มนุษย์ไร้ความเมตตามากขึ้นทุกที.


ภาพประกอบบทความ http://webboard.mthai.com/upload_images_new/2008-04-22/377305.jpg
























วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ชีวิตคลาสสิค




เริ่มรู้จักฟุตบอลครั้งแรก ตอนที่ช่องเก้านำรายการ ฟุตบอลดารา
มาออกอากาศตอนบ่ายสามของวันเสาร์ ยังพอจะจำไตเติ้ลรายการ
ได้ว่าเป็นภาพของพระราชวังบักกิ้งแฮม แล้วก็มีเสียงดนตรีเร้าใจนำเข้ารายการ
ตามด้วยเสียงทุ้ม ๆ นิ่ม ๆ ของผู้พากษ์ คุณประชา เทพาหุดี

ช่วงเวลาที่ช่องเก้า เอาฟุตบอลอังกฤษมาออกอากาศ
ช่องเจ็ดก็มีรายการฟุตบอลบราซิลออกอากาศช่วงดึกราวสี่ทุ่ม วันพุธ
สมัยนั้นทีวีที่บ้านมีเครื่องเดียวและยังเป็นขาวดำแบบต้องใช้มือบิดเปลี่ยนช่อง

การดูฟุตบอลอังกฤษไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะเป็นข้อต่อรอง
หลังจากช่วยแม่ทำงานบ้าน และเตรียมกับข้าวเสร็จ ถึงได้มานั่งดู
ส่วนฟุตบอลบราซิลต้องแอบพ่อมาค่อย ๆ เสียบปลั๊กทีวี
จะบิดเปลี่ยนช่องได้ก็ต้องค่อย ๆ บิดช้า ๆ ให้เกิดเสียงน้อยที่สุด
นั่งดูให้ใกล้ทีวีมากที่สุด เพราะต้องเปิดเสียงทีวีเบา ๆ และต้องคอยเงี่ยหูฟัง
ว่าพ่อจะตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่ จะได้พุ่งตัวไปปิดทีวีทัน บางวันโดนพ่อจับได้
ก็ต้องเดินจ๋อย ๆ กลับไปนอน

ชื่อของลิเวอร์พูล น้อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ วาสโกดากาม่า เซาเปาโล คอรินเธียนส์
ก็เริ่มรู้จักคุ้นหูเอาตอนนั้น ชื่อเหล่านี้จึงกลายเป็นเฟิสท์อิมเพรสในวัยเด็ก
เข้าใจว่าช่วงนั้นผมเชียร์น้อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ด้วยซ้ำไป เพราะผมปักโลโก้
ของฟอเรสต์เป็นงานส่งอาจารย์ในวิชาสร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.)

เปลี่ยนมาเชียร์ลิเวอร์พูลตอนไหนยังจับผิดตัวเองไม่ได้

สมัยนั้นหนังสือสตาร์ซอคเกอร์ รายสัปดาห์ราคาสิบบาท (ถ้าจำไม่ผิด)
เป็นหนังสือที่ผมวิ่งมาที่แผงหนังสือทุกวันอังคาร เก็บตังค์ค่าขนมวันละบาท
เจ็ดวันเจ็ดบาท แล้วก็รดน้ำต้นไม้ให้แม่ขอตังค์เพิ่มได้อีกสามบาท
ซื้อสตาร์ซอคเกอร์รวมแล้วหลายร้อยเล่มวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ
ไม่เคยขาดแม้แต่เล่มเดียว วันนี้นึกไม่ออกจริง ๆ ว่า
หนังสือหลายร้อยเล่มนั้นหายไปไหน

ได้ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลอังกฤษครั้งแรก น่าจะเป็นเกมรอบชิงเอฟเอคัพ
ระหว่างโคเวนทรีกับสเปอร์ ขอพ่อไปดูที่บ้านพี่ ที่ห่างกันแค่ข้ามคลองเล็ก ๆ
ออกไปทางหลังบ้าน นอกจากจะได้มีเพื่อนดูแล้ว ยังมีปาท่องโก๋จิ้มนม
เป็นของกินเล่นแถมมาด้วย


เมื่อเชียร์ลิเวอร์พูลก็ตามเอาใจช่วยเรย์ คลีเม้นซ์ เพราะอยากให้เค้าเป็นมือหนึ่ง
ของทีมชาติอังกฤษมากกว่าปีเตอร์ ชิลตัน ยังจำชื่ออลัน เคนเนดี้ เรย์ เคนเนดี้
แกรม ซูเนสส์ อลัน เฮนเซ่น มาร์ค ลอว์เรนสัน เคนนี่ เดลกลิช เอียน รัช
ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ จอห์น บาร์นส์ เคร็ก จอห์นสตัน แจน โมลบี้ จอห์น อัลดริจจ์
ได้อยู่

ถ้าจะให้นึกถึงนักฟุบอลรุ่นเก่า ๆ ที่พอจะนึกได้ มาตั้งใจเชียร์เอาจริง ๆ จัง ๆ
ตอนที่ลิเวอร์พูลแพ้อาร์เซน่อล 0: 2 เสียแชมป์ดิวิชั่น 1 ให้อาร์เซน่อลในนัดสุดท้าย
ของฤดูกาล

ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก รู้แต่ว่า “รู้สึกสงสาร” ซึ่งน่าจะเป็นเหตุให้ติดตามเชียร์
เวอร์พูลมาตั้งแต่นั้น พาลไม่ชอบอาร์เซน่อลแถมมาด้วย
ส่วนแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ยอมรับว่าไม่เคยสนใจเลย เพราะคิดว่าคู่แข่งสำคัญ
คืออาร์เซน่อลกับอีเวอร์ตัน (ตอนนั้นสตาร์ซอร์เกอร์ยังเรียกเอฟเวอร์ตันว่าอีเวอร์ตัน)

ความทรงจำที่เกี่ยวกับฟุตบอลอังกฤษและฟุตบอลบราซิลในอดีต
พอจะระลึกได้ประมาณนี้

พร้อม ๆ กับที่เชียร์บอลอังกฤษ ฟุตบอลไทยก็ติดตามมาตลอด
โดยเลือกเป็นกองเชียร์ของทีมการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพราะชอบลีลาเตะโหด ๆ
ของนำโชค ไชยเจริญ จำหัวฟู ๆ ของดาวยศ ดาราและลีลาลากเลื้อยของ
เชิดศักดิ์ ชัยบุตรได้ ไม่ชอบทีมธนาคารกรุงเทพ (แต่ตอนนี้มีเงินฝากอยู่แบงค์กรุงเทพ)
และเกลียดทีมทหารอากาศเข้าไส้ (เพราะเก่งเกินเหตุ)

แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองไปเชียร์การท่าเรือเอาตอนไหน ? เรื่องนี้นึกสาเหตุและช่วงเวลา
ไม่ออกจริง ๆ

การตามดูฟุตบอลไทยทำให้ต้องเข้าสนามศุภชลาศัยฯ บ่อยมาก
ตกเย็น...วันไหนมีฟุตบอลก็ชวนเพื่อนที่เรียนมัธยมด้วยกันไปตาก-ลมเย็น ๆ
ข้าวเหนียวสองห่อซื้อหมูปิ้งห้าไม้พร้อมกับน้ำดื่มหนึ่งขวด
ตีตั๋ว ๒๐ บาทบ้าง ๕๐ บาท

เชียร์บอลถ้วย ก. บ้าง บอลควีนส์คัพบ้าง

มีความสุขกับการดูบอลไทยในสนามพร้อม ๆ กับดูฟุตเทปบอลอังกฤษ
กับฟุตบอลบราซิลไปตามเรื่องตามราว

ยังจำเหตุการณ์บอลคิงส์คัพนัดชิงชนะเลิศระหว่างไทย กับเดนมาร์ก
ที่คนดูล้นลงไปขอบสนามจนนักฟุตบอลต้องมาขอร้องให้ขยับ
เพื่อให้เหลือพื้นที่ให้ได้ทุ่มบอลบ้าง

ช่วงหนึ่งมีฟุตบอลยามาฮ่าไทยแลนด์คัพอีกรายการหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมสูงมาก
คนดูล้นทะลักสนามไทยญี่ปุ่นดินแดงอยู่อีกหลายปี ตอนนั้นแอบเอาใจเชียร์
ทีมจังหวัดสตูล ที่มีกองเชียร์-เชียร์กัน “โคตรมัน” และมีนักบอลเล่นกันแบบ
สู้ตายถวายหัว ฟุตบอลอาชีพของไทยน่าจะเกิดตอนนั้น

แต่ก็ไม่เกิด

ย้อนไปอีกนิดฟุตบอลนักเรียน “ปรินเซสคัพ” ก็ตามดู
จำชื่อนักฟุตบอลนักเรียนดัง ๆ เก่ง ๆ ได้สามคน

ตอฮา นาคนาวา ธาตรี ฉาบสุวรรณและประสงค์ พันธุ์สวัสดิ์

สองคนแรกไม่รู้ว่ายังอยู่ในวงการฟุตบอลหรือไม่ ?
แต่สำหรับ “เดอะเตี้ย” ประสงค์ พันธุ์สวัสดิ์ ตอนนี้นอกจากจะเป็นตำรวจ
ติดยศใหญ่โตแล้ว ยังได้ข่าวว่าคุมทีมนักเรียนเทพศิรินทร์อยู่ด้วย

ผมเคยดวลแข้งกับประสงค์สามครั้ง สมัยที่เล่นบอลนักเรียนของกรมพละศึกษา
และบอลนักเรียนกรุงเทพมหานคร

ประสงค์อยู่เทพศิรินทร์

ผมไล่เตะบอลอยู่โยธินบูรณะ

แข่งกันสามครั้งไม่เคยชนะสักครั้ง แพ้สามศูนย์ สี่ศูนย์

มากสุดเจอเข้าไปหกศูนย์

จึงรู้ตัวดีว่าเอาดีทางเตะบอลไม่ได้แน่ ไปเป็นนักดูบอลจะมีความเจริญรุ่งเรือง
ในชีวิตมากกว่า ที่เล่นก็แค่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ความทรงจำที่เกี่ยวกับฟุตบอลอังกฤษในอดีตพอจะระลึกได้ประมาณนี้


ยี่สิบปีผ่านไป

“กริ๊ง........”

หลังเสียงกริ่งสัญญาณหมดเวลาเรียนในคาบที่สี่ เพื่อนร่วมห้องหลายคน
แยกย้ายกันลงไปกินข้าวกลางวัน หลายคนเข้าห้องสมุด
หลายคนเดินเอื่อยเฉื่อยเพราะเห็นว่า เวลาห้าสิบนาทีมากพอ
ที่จะค่อย ๆ ดำเนินชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ

อีกกลุ่มหนึ่งคว้าบอลพลาสติกลูกละห้าบาท รีบวิ่งลงไปจองพื้นที่
ที่มีน้อยกว่าความต้องการอย่างรวดเร็ว ลูกบอลพลาสติกถูกเข็มเจาะเป็นรูเล็ก ๆ
ให้ลมผ่านออกมาบ้างทีละน้อย เพื่อจะได้ไม่แข็งเกินไป
สำหรับการเอาไปเล่นบนพื้นปูน

เราแบ่งข้าง ๆ ละสี่คน เอาก้อนหินสองก้อนมาวางระยะห่าง
ประมาณสามก้าว เราเรียกการเล่นตอนพักกลางวันแบบนี้ว่า

“บอลโกล์หนู”

ทีมไหนถูกยิงลูกบอลผ่านก้อนหินสองก้อน ต้องออกไปรอต่อคิว
เพื่อจะกลับเข้ามาเล่นใหม่ จะได้เล่นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับว่า
มีทีมรอเล่นอยู่อีกกี่ทีม

ข้าวกลางวันไม่สนใจ หนังสือไม่ใส่ใจจะอ่าน ชีวิตเพื่อน ๆ กลุ่มนี้
สนุกสนานเร่งเร้าอะดรีนารีนในร่างกาย ไปกับการสมมติตัวเองว่า
เป็นนักฟุตบอลเก่ง ๆ คนใดคนหนึ่ง

เกือบทุกครั้งจะยืนเป็นผู้เล่นคนสุดท้าย ระแวดระวังเฝ้าพื้นที่
ที่มีระยะห่างแค่สามก้าว ไม่ให้ลูกบอลของทีมตรงข้ามผ่านไปได้
การยืนเป็นคนสุดท้ายของทีม ไม่ต้องใช้แรงมากนัก มีหน้าที่เตะบอล
ให้พ้น ๆ ตัวไป ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเพื่อนอีกสามคนไปจัดการกันเอง

แพ้บ้าง ชนะบ้าง ปน ๆ กัน
เราเล่นกันแบบไม่มีกรรมการมาคอยตัดสิน
เราตัดสินกันเองด้วยมิตรภาพของคำว่าเพื่อน


ห้าสิบนาทีหมดไปอย่างรวดเร็ว เสื้อนักเรียนสีขาวชุ่มโชกไปด้วยเหงื่อ
เหม็นสาบอยู่ไม่น้อย เวลาที่ต้องกลับขึ้นไปนั่งในห้องเรียนอีก

เลิกเรียนบ่ายสามโมงยี่สิบ พวกเราก็ยังใช้ชีวิตแบบเดิมเหมือนเมื่อตอนกลางวัน
ลงมาไล่เตะบอลพลาสติกลูกกลม ๆ แต่คราวนี้อยู่กันได้นาน
จนพระอาทิตย์หมดหน้าที่ประจำวัน ภารโรงของโรงเรียนต้องมาไล่ให้กลับบ้าน

ใครสักคนในกลุ่มถือลูกบอลพลาสติกกลับบ้านไปด้วย
เพื่อจะเอาไปเตะอัดกำแพงเล่นที่บ้าน หรือซ้อมเลี้ยงบอล
สมมติตัวเองเป็นนักฟุตบอลที่ชื่นชอบสักคน

ต้องมีสักครั้งล่ะน่า....ที่ต้องเคยสมมติตัวเองว่าเป็นฮีโร่คนใดคนหนึ่ง

บางวันซัดลูกไกลสามสิบห้าหลา เสียบมุมอย่างปิยะพงษ์ ผิวอ่อน /
บางวันต่อยลมวืดวาดอยู่คนเดียว สมมติว่าตัวเองเป็นแชมป์โลก
เพราะสะใจที่เขาทราย กาแล็คซี่ชนะคู่ชก /
บางวันก็หยิบไม้กวาดมาแทนกีต้าร์ กรีดนิ้วโซโล่อย่าง เมามัน
พร้อม ๆ กับจินตนาการว่ามีแฟนเพลงส่งเสียงกรี๊ดอยู่ล่างเวที
สมมติตัวเองเป็นแอ๊ด คาราบาว

โลกในวัยเรียนมัธยมปลายเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว จึงเต็มไปด้วยชีวิตการเรียน
ที่เคลือบสาบเหงื่อของฮี่โร่ไว้อีกชั้นหนึ่ง ที่เป็นเช่นนั้น (อาจ) เป็นเพราะ
ไม่มีคาราโอเกะในห้าง ไม่มีร้านเหล้าปั่นข้างรั้วโรงเรียน
ไม่มีเด็กผู้หญิงวัยเดียวกันมาทำให้ไขว้เขว

“มีแต่เพื่อน ฟุตบอลโกล์หนู และไม้เรียวของคุณครู”


เป็นสามสิ่งที่หลอมคนให้เป็นคนจนวันนี้ ถ้าจะเรียกชีวิตช่วงนั้นว่าเป็น
“ชีวิตคลาสสิค” ก็น่าจะได้

นึกถึงกระป๋องนมถูกเจาะรูผูกด้วยเชือกฟางสีเขียว ข้างในมีกาแฟผง
ที่ชงด้วยฝีมืออาแป๊ะหน้าปากซอย เดินบ้างวิ่งบ้างออกไปซื้อให้พ่อทุกเช้า
กลับมาพร้อมปาท่องโก๋สามคู่ นั่นก็เป็นความคลาสสิค (ในชีวิต) อีกเรื่องหนึ่ง

ตั๋วหนังโรงหนังเอเธนส์ แมคเคนน่า พาราไดซ์ เพชรราม่า เพชรเอ็มไพร์
ลิโด สกาล่า สยาม
หรือแม้กระทั่ง ศรีย่าน เธียร์เตอร์ นนทบุรีราม่า ศรีพรสวรรค์
ที่ใช้ลายไทยเป็นหลักในการออกแบบ

คนฉีกตั๋วจะฉีกตรงกลางตามรอยเส้นปรุ ส่งคืนมาให้เราครึ่งหนึ่ง
อีกครึ่งหนึ่งหย่อนใส่กล่องก่อนเข้าประตูโรงหนัง
วันนี้โรงหนังทุกโรงปิดตัวไปแล้ว ช่วงหลังจึงขอคนเก็บตั๋ว
เก็บเป็นที่ระลึกเต็ม ๆ ใบ

นั่นก็อีกหนึ่งของความคลาสสิค ที่ยังเก็บใส่กล่องไว้อย่างดี
หยิบขึ้นมาดูครั้งไหนก็อิ่มเอมใจเมื่อนั้น

มีจดหมายที่แฟนเก่าเขียนตอบสมัยเริ่มทำงานใหม่ ๆ อีกสี่ห้าฉบับ
หยิบขึ้นมาอ่านครั้งไหนก็ยังสุขใจทุกครั้ง

ดีวีดีเกมลิเวอร์พูลพลิกโลกกลับมาเป็นแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก
ด้วยชัยชนะเหนือเอซีมิลาน ถูกเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำอีก

ภาพที่เตะบอลใต้ตึก
วิ่งซื้อกาแฟให้พ่อ
ตั๋วโรงหนัง
จดหมายแฟนเก่า
ลิเวอร์พูลเป็นแชมป์
เล่นทอยตุ๊กตุ่น
โดดหนังยางด้วยห้าท่ามาตรฐาน (ข้อเท้า เข่า เอว อก หัว)
เกมกระต่ายขาเดียว ฯลฯ


นึกถึงครั้งไหน

หัวใจก็อิ่ม
ภาพประกอบบทความจาก http://www.ndesign-studio.com/images/portfolio/graphic/soccer-player-1.jpg

แค่นี้..ก็ไม่เสียชาติเกิด


การแสดงดนตรีร่วมสมัย เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด
มีที่มาจากงานดุษฎีนิพนธ์สองเรื่อง คือ

วิเคราะห์การใช้ภาษาในเพลงบุคคลของยืนยง โอภากุล และ
ยุทธวิธีการนำเสนอเพลงไทยประยุกต์สู่ประชาชน

ดุษฎีนิพนธ์ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผ่านไปแล้วด้วยความรู้สึกดี ทั้งคนฟัง คนเล่น และคนจัด

เสียงสะท้อนเล็กสองเสียง ทำให้การจัดงานครั้งนี้สมบูรณ์มากขึ้น
เพราะมีผู้ประเมินผลงาน ขอนำข้อคิดเห็นมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้


คนแรก คือ เอก อัคคี

"ตามความรู้สึกส่วนตัวของผมไม่น่าจะคิดผิดหากจะบอกว่า
วงดนตรีคาราบาว เป็นมากกว่า วงดนตรีแม้ว่า วันนี้
วัยรุ่นรู้จักคาราบาวน้อยกว่าดงบังชินกิก็ตามที
แต่บทเพลงที่พวกเขาขับขานร่วมร้องบรรเลงกันมายาวนานร่วม ๒๕ ปี
มีคุณค่าและมีความหมายต่อผู้คนในสังคมไทยเรา มากกว่าบทเพลง
ที่ให้ความบันเทิง ความสุขใจ แต่มนต์เพลงคาราบาวให้คนฟังมากกว่านั้น

ไม่ว่าจะเป็น ในด้านแง่คิด ปรัชญาชีวิต สัจจะแห่งชีวิต ฯลฯ
พูดง่ายๆว่า ฟังแล้วคิดตามก็ทำให้เรามองโลกและคนรอบข้าง
สังคมรอบตัวละเอียดขึ้นมองอย่างเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตมากขึ้น

จะว่าไปแล้วงานนี้คือ

พลังแห่งเสียงเพลงและเป็นเสน่ห์ที่แท้จริงของมนต์เพลงคาราบาว

ถ้าเราจะตามรอยควายแบบคาราบาว มันก็เหมือนกับเรากำลังตามรอยครู

ไม่ใช่แค่จังหวะโจ๊ะๆ เฮฮาสามช่าเอามันส์เข้าว่า-เอาสนุกเข้าใส่
แต่กลับบ้านไปไม่เหลืออะไรติดร่องสมองกลับไปเลยนอกจาก
ความสนุกสนานเมามัน


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๒)
วงดนตรีคาราบาวร่วมเล่นคอนเสิร์ตร่วมกับขุนอิน
มือระนาดเทวดาแห่งยุคดิจิตอล
ที่หอประชุมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ท่ามกลางบรรยกาศที่ว่ากันว่า
เป็นกันเองที่สุดเท่าที่คาราบาวเคยประสบพบเจอมาในรอบหลายสิบปี


เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคอนเสิร์ตแบบฟอร์มใหญ่ คนดูเรือนพันเรือนหมื่น
หรือไม่ก็ไปเล่นตามผับเพื่อชีวิต ที่ขาเมาต้องการจะดิ้นพราด ๆ
อยู่ข้างโต๊ะกับเพลงบัวลอย

แต่คราวนี้คาราบาวขึ้นเวทีพร้อมกับวงดนตรีไทยเดิม แถมยังเป็นคอนเสิร์ต
ที่เลือกเพลงหนัก ๆ เนื้อหาสาระแน่น ๆใช้พลังในการร้องและเล่นเยอะ ๆ

ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าตาก,นเรศวรมหาราช,บัวลอย,กอทูเล ฯลฯ

ต้องชื่นชมและปรบมือยาวๆให้กับทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ตครั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็น ทีมเว็ปไซต์คาราบาว 2524
และทีมงานของ ดร.วรัตต์ อินทสระ

ซึ่งมองหน้าตาแล้วไม่น่าจะเรียกว่า
มืออาชีพในการจัดคอนเสิร์ต
แต่ต้องบอกว่าพวกเขาคือมืออาชีพ

ในการเรียงร้อยบทเพลงในการนำเสนอ

เพราะว่าลื่นไหล สอดคล้องและผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว
เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบที่พวกตัวเองอยากฟัง
เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบแฟนพันธุ์แท้คาราบาวที่อยากเห็น
อยากได้ยินยืนยง โอภากุลร้องเพลงแบบคาราบาวแท้ ๆ
บนเวทีสด ๆ แบบนี้

ต้องขอคารวะด้วยความจริงใจ

ถ้าแอ๊ด คาราบาว ไม่รักพวกคุณและไม่เห็นถึงความตั้งใจ
ในการทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ์ไม่มีผลประโยชน์การค้าใด ๆ
แอบแฝง ฟันธงทิ้งไปได้เลยว่า ล้านเปอร์เซ็นต์ !!
เพลงเหล่านี้ไม่มีทางได้ยินบนเวทีคอนเสิร์ตอย่างแน่นอน



เพราะทุกเพลงใช้พลังเยอะมากนี่ขนาดยอมเพราะรักนะ
น้าแอ๊ดยังร้องไปบ่นไปนะว่า ใช้พลังเยอะจริง ๆ
ต้องออกกำลังกายเป็นเดือนกว่าจะฟิตพอจะมายืนร้องเพลงยาก ๆ

นานถึง ๔ ชั่วโมง!!

สุดยอดครับทั้งคาราบาวและพวกคุณ-คนจัดงาน
ขอบคุณมากที่ทำให้คนที่ฟังเพลงคาราบาวมากว่า ๒๐ ปี
มีความสุขอีกครั้ง
........................................................................................


เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์ อยู่ในวงการน้ำหมึกในฐานะนักข่าว นักเขียน
บรรณาธิการนิตยสารและเจ้าของสำนักพิมพ์ ข้อความข้างต้นได้มาจาก
ความประทับที่ เอก ได้มีโอกาสไปชมการแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนั้น
แล้วส่งบทความนี้มาให้อ่านก่อนทางจดหมายอิเล็คทรอนิคส์
ก่อนที่หนังสือพิมพ์สยามดา ราจะลงตีพิมพ์หลังวันงานราวหนึ่งสัปดาห์


เสียงสะท้อนจากแฟนเพลงอีกคนหนึ่งเขียนถึงคอนเสิร์ตเดียวกันผ่าน
ทางบล็อกส่วนตัว http://www.oknation.net/blog/print.php?id=461889
ขออนุญาตนำบางส่วน (ที่ขัดเกลาภาษาบางช่วงบางตอน)
มาบันทึกไว้ที่นี่

บันทึกไว้เพื่อเป็นกำลังใจ แรงบันดาลใจ ให้แก้ไขงาน
ในครั้งต่อไป ถ้ายังมีโอกาสได้ทำคอนเสิร์ต (ที่คิดว่าจะ)
ดีดีอีกสักครั้ง


เชิญอ่านอีกหนึ่งความคิดเห็น


นาฬิกาบนหน้าจอโทรศัพท์บอกเวลาห้าทุ่มสี่สิบห้านาที
ฉันเดินทอดน่อง อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ยังหลงเหลือนักศึกษานั่งคุยกัน อยู่ตามใต้ตึกของคณะต่างๆ
บ้างประปราย

กว่าสามสิบนาทีจากโรงละครสำนักพิพิธภัณฑ์ ถึงข้างคณะวิศวะฯ
นึกถึงเรื่องราวที่เพิ่งผ่านไปเมื่อครู่

อาหารมื้อสุดท้ายที่ตกถึงท้อง คือเมื่อเที่ยงวันที่ผ่านมา
ตอนนี้เที่ยงคืน สิบสองชั่วโมงเข้าไปแล้ว แวะกินข้าวต้มโต้รุ่ง
ใต้ถุนแฟลต ๒๑ ห้วยขวางถิ่นเก่า

"นับจากวันที่ชายคนชื่อบัวลอยล้มหายไปจากเพื่อนฝูง
มะโหนกคนที่เคยทำนา ก็บากหน้าไปเป็นพลทหาร ...."

เสียงเพลงถึกควายทุย ภาค ๗ รอบที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้
ส่งฉันถึงบ้านแบบหมดพลังงาน สำนึกแรกรู้สึกตัวตื่น
ไขว่คว้าหาหนังสือที่หัวเตียง "เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด"
หนังสือเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นคอนเสิร์ต อ่านรวดเดียวจบ พร้อมกับร้อง

“อ๋อ ๆ ๆ ๆ” ไปเป็นระยะๆ

หนึ่งชั่วโมงแรกของคอนเสิร์ต ฉันรู้สึกตะหงิดๆ
ถึงฉันจะไมใช่นักร้อง นักดนตรี แต่ก็รู้สึกได้ทันทีว่าคุณภาพเสียงไม่ดี
แสงยิ่งไม่ต้องพูดถึง หมดอารมณ์ถ่ายภาพไปมากโขทีเดียว

"แฟนคาราบาวกี่คนที่เคยวาดหวังไว้ว่าสักครั้งในชีวิต
จะมีโอกาสได้ทำงานกับคาราบาว หรือคิดว่าสักวันหนึ่ง
จะมีโอกาสรวมกลุ่มแฟนคาราบาว เพื่อร่วมกันเสพงานที่ร่วมกันสร้าง
ร่วมฟังเพลงที่ไม่สามารถหาฟังได้ในวงเหล้าหรือโคนต้นไผ่
ความไม่ใช่มืออาชีพในการจัดการแสดงนั่นเป็นอุปสรรคใหญ่
แต่ถูกทดแทนด้วยความตั้งใจจริงของหลายๆ หัวใจที่มัดไว้รวมกัน"


คอนเสิร์ตครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มแฟนเพลงที่รักคาราบาว
และเบื่อความซ้ำซากของเพลงที่เล่นประจำอยู่ตามผับ
ทีมงานหลายชีวิตกับสี่ร้อยกว่าวัน ทั้งผลักทั้งดัน จนเกิดงาน
คอนเสิร์ตถูกคอนเซ็พ (ฉัน) ในครั้งนี้

แล้ววันนี้เราก็มีโอกาสได้ยิน เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ, สาธุชน, ลุงฟาง,
อองซานซูจี, ดาวแห่งโดม, คิดถึงสุรพล, จ้อนนอนเล่น, นายขนมต้ม,
กอทูเล ฯลฯ


น้าแอ๊ดร้อง 'คิดถึงสุรพล' ได้สุดยอดมากครับ (ปรบมือ)

หนังสือเล่มนี้บอกเรื่องราวทุกอย่างสี่ร้อยกว่าวัน
กว่าที่จะมาเป็นคอนเสิร์ตในครั้งนี้

ทำไมต้องคาราบาวกับขุนอิน
ทำไมต้องตั้งชื่อการแสดงว่า เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด

ทำไมต้องแสดงที่โรงละครสำนักพิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์ฯลฯ

"ตั้งแต่ดูคอนเสิร์ตคาราบาวมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น คอนเสิร์ตเล็ก
คอนเสิร์ตใหญ่ไล่ดูมาหมด ไม่เคยคิดเลยว่าวันนี้ต้องเข้ามา
เป็นคนคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มคนที่จัดงานคอนเสิร์ตศิลปินที่เราบ้าคลั่ง
มาตลอดชีวิต เคยแต่เป็นคนดูที่นั่งดู นั่งฟัง เก็บเกี่ยวความสวยงาม
ความมัน

แต่ตอนนี้เป็นไงล่ะ

What a fuck!! อะไรกันนักกันหนา (วะ) เนี่ย”

อ่านหนังสือจบก็รู้สึกขึ้นมาเองว่า
งานเมื่อคืนเป็นงานที่สุดยอดมากครับ

ยิ่งชั่วโมงท้ายๆ รู้สึกได้ถึงสปิริตของน้าแอ๊ดเป็นอย่างยิ่ง
(ปรบมือ)


"สำหรับแฟนเพลงคาราบาว เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ซุกซ่อนตัวอยู่
อย่างไม่เปิดเผย มาดูคาราบาวด้วยความชื่นชมดนตรีในแบบของคาราบาว
เมื่อการแสดงจบลงก็เก็บเกี่ยวความสุขกลับออกไปอย่างไร้ร่องรอย
เพื่อรอวันที่จะกลับมาใหม่ในโอกาสต่อไป"


เคยถามใครสักคน เมื่อเห็นเค๊าทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยจะเข้าใจว่า

"ทำแล้วได้อะไร?"
ได้ทำไง เขาตอบ
"เออ งั้นทำไป" ฉันตอบ

ขอบคุณ ทีมงานทุกคนสำหรับการลงแรงลงใจ
จนเกิดความประทับใจที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

ยืนยันว่า คอนเสิร์ตครั้งนี้ชนะใจคนดู

ถ้ายังไม่เข็ด จัดอีกนะ จะไปดู สัญญา

การที่มีคาราบาวอยู่บนเวที และเรานั่งฟัง
อยู่ข้างล่าง นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

หมายเหตุ : ข้อความตัวเอียง คัดลอกจากหนังสือ "
เรื่องราวเขาควายและไม้ระนาด"

............................................................................


ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงาน ความรู้สึกของแฟนเพลง
ทั้งสองคนนี้จะถึงมือนักดนตรีคาราบาวทุกคนในวันหนึ่ง

เพื่อบอกให้คาราบาวรู้ว่า

ยังมีเพลงอีกหลายเพลงที่แฟนเพลงอยากได้ยิน อยากได้ฟัง
คาราบาวเล่นสด ๆ บนเวที ก่อนที่จะตาย

ไม่ได้กล่าวเกินกว่าที่เป็นจริง

"ได้ฟังเพลงดาวแห่งโดม สด ๆ บนเวที แค่นี้ก็ไม่เสียชาติเกิด"

ประโยคข้างบน
มีแฟนคาราบาวที่ศรัทธาในธรรมศาสตร์ และ
รัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ พูดให้ผมฟังด้วยอารมณ์เต็มตื้น

หลังคอนเสิร์ตในคืนนั้น.

ภาพประกอบบทความจาก www.carabao2524.com

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โมนาลิซ่า / คาราบาว


คืนวันที่ฝนตกพรำ หยิบหนังสือ อาร์ตออฟเดอะเวิล์ด จากชั้นวางข้างเตียงนอน
พลิกดูภาพวาดจากฝีมือศิลปากรระดับโลก จนไปหยุดที่ภาพโมนาลิซ่า

ขยับตัวจากท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน มาเป็นนั่งพิงหมอนใบใหญ่ สายตายังจับจ้องไปที่สาวสวยในรูป
พิจารณาเพื่อหาความสวยงาม / ความสวยงามที่คนทั่วโลกยกย่องผู้หญิงในภาพนี้

๔ ปีที่ใช้ชีวิตนักศึกษาศิลปะ จึงผ่านตาภาพหญิงสาวที่ยิ้มแบบมีเลศนัย
มาตั้งแต่สมัยเรียน หญิงสาวในรูปไม่ต้องรสนิยมส่วนตัวมากนัก
โดยส่วนตัวโมนาลิซ่าไม่ใช่ผู้หญิงสวย เธอมีเค้าโครงของใบหน้าและรายละเอียดต่าง ๆ
คล้ายคลึงกับใบหน้าของลีโอนาร์โด ดาวินชี ผู้ให้กำเนิดเธอด้วยซ้ำไป

ความสวยของโมนาลิซ่าจึงอาจจะเป็นแค่สิ่งที่เราเชื่อกันต่อ ๆ มาว่า “เธอสวย”
และความเชื่อนี้ก็ถูกส่งต่อกันมานานหลายร้อยปี

โมนาลิซ่าเป็นภาพสุดท้ายที่เห็นในคืนนั้น นึกถึงบางประโยคที่มักจะบอกกับนักศึกษา
ในชั้นเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอยู่บ่อย ๆ

“ภาพที่สวยที่สุดยังไม่มีใครเคยได้เห็นเพลงที่เพราะที่สุดยังไม่มีใครเคยได้ฟัง”

ในเครื่องเล่นซีดี เพลงของคาราบาวยังคงเล่นอย่างต่อเนื่อง
ระเรื่อยมาจนมาถึงเพลงเมดอินไทยแลนด์

ถ้าคิดว่าโมนาลิซ่าก็เป็นแค่ภาพฮิต เพลงอย่างเมดอินไทยแลนด์ก็แค่เพลงฮิตเหมือนกัน

มีคำถามค้างคาในใจอยู่หลายคำถาม เกี่ยวกับวงดนตรีคาราบาว
คำถามหนึ่งที่เคยถามนักดนตรีบางคนไปบ้างแล้ว

“เบื่อมั้ย ? ที่ต้องเล่นเพลงเดิมซ้ำ ๆ กันเป็นสิบปี”
“ไม่เบื่อหรอก”

ไม่ค่อยเชื่อคำตอบที่ได้กลับมา ขนาดคนฟัง ที่ไม่ได้ฟังทุกวันยังรู้สึกเบื่อ

ความตื่นเต้นที่ติดตามฟังคาราบาวทั้งเวทีเล็กเวทีใหญ่ เริ่มจากบัตร ๕๐ บาท
ไปจนถึงบัตร ๒,๐๐๐ บาทแทบจะไม่ต่างกัน คือ ตื่นตาตื่นใจกับบรรยากาศรอบข้าง
บวกกับเพลงที่คำรามอินโทรขึ้นมา แค่ห้าเพลงแรก

สัญญาหน้าฝน / แร้งคอย / รักทรหด / เจ้าตาก / เมดอินไทยแลนด์

คนฟังมีความสุขสนุกสนานที่ได้ร้องตาม ได้เต้นตาม จากทวงทำนองที่นักดนตรีร่ายเรียงโน้ต
พวกเขาเข้าไปฟังเพลงคาราบาวที่ฮิตติดหู หรือเข้าไปเสพดนตรีที่ถูกรสนิยม

แฟนเพลงคาราบาวแทบจะไม่ได้ยินเพลงเหล่านี้บนเวทีเลย

“...เสียงขลุ่ยกลืนกลบ ลบสำเนียงรอบกาย แสงจันทร์กระจายโอบพื้นเดียวกัน...”
(เพลงขลุ่ยไม้ไผ่)

“...ยามนี้ฟ้ามืดมน ลมฝนเทกระหน่ำ ต่างตอกย้ำฤดูกาลที่ผ่านเวียน...”
(เพลงรกกำเนิด)

“...คืนเหน็บหนาวมักมีเรื่องราวให้เล่าสู่ ใครอยากรู้กระเถิบเข้ามา...”
(เพลงเสือ)

ขนาดโมนาลิซ่ายังว่าไม่งาม และภาพที่งดงาม คือภาพอะไร ?

ยังจำภาพเขียนภาพแรก ๆ ของตัวเองกันได้มั้ย ?

ดินสอที่ลากอย่างไม่มั่นใจเป็นภูเขาสองลูก
เติมเส้นโค้งระหว่างเขากลายเป็นดวงอาทิตย์ครึ่งดวง
แต่งลายเส้นขยุกขยุยเป็นลายพลิ้วไหวของทะเล
เติมจินตนาการของภาพนั้นให้เต็มอิ่มในความรู้สึกด้วยเรือใบลำเล็ก ๆ
และนกหนึ่งฝูงใกล้ ๆ ภูเขา

ระบายสีน้ำตาล สีแดง สีฟ้า ให้แจ่มจัดแจ๋ที่สุดเท่าที่จะทำได้

ลองกลับไปเขียนดูสิ.....

จะอมยิ้มตามรอยดินสอ และสีที่ระบายลงไปโดยไม่รู้สึกตัว
นั่นต่างหากภาพที่สวยที่สุด เพราะมันเป็นภาพที่สร้างขึ้นมาจากจิตใจ
ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นเรายังไม่เคยเห็นทะเลด้วยซ้ำ

คาราบาวมีเพลงฮิตมากมาย ร้องขึ้นมาเมื่อไหร่คนดูก็สนุกสนาน ร้องตามได้
แต่คาราบาวก็มีเพลงสวย ๆ ที่นอนนิ่งเป็นวีรบุรุษในกองขยะอยู่ตั้งหลายเพลง

“พี่ ๆ คาราบาวจะไม่เล่นให้ฟังกันบ้างหรือ ?”



เจ็ดโมงเช้า

เครื่องเล่นซีดีเครื่องเดิม มีโอกาสได้เล่นเพลงที่เพราะ (ตามความรู้สึกส่วนตัว) ทีละเพลง ๆ
เป็นความสุขเล็ก ๆ ของแฟนเพลงคาราบาวตัวน้อย ๆ ที่ชีวิตนี้
อาจไม่มีโอกาสได้ฟังบนเพลงเหล่านี้บนเวที

บางเพลงเท่จนเกือบถ่อย (เพลงหำเฮี้ยน)
บางเพลงน่าตื่นเต้นจนเกือบหวือหวา (เพลงวอลซ์ทบ.)
บางเพลงเรียบง่ายจนเกือบสามานย์ (ถึกควายถุยภาค 9)
บางเพลงก็หลักแหลมคมคิดจนเกือบเจ้าเล่ห์ (ในนามแห่งความรัก)

ถ้าวันหนึ่งคอนเสิร์ตคาราบาวเป็นไปอย่างสงบ อาจไม่ใช่ภาพที่นักดนตรีคุ้นชิน
จนอาจพลั้งคิดไปว่าคนดูไม่สนุก แต่การนั่งฟังอย่างสงบนั่นต่างหาก
คือ อาการที่ฟังเพื่อให้เกิดปัญญา จากการใช้เวลาเสพเนื้อในงาน


เกือบจะหลับแล้ว

โวลุ่มเครื่องเล่นซีดียังเท่าเดิม แต่หูกลับรับเสียงได้เบาลง
ความเงียบกำลังจะเข้ามาทำหน้าที่อย่างสงัดยิ่งกว่าเดิม
อยากจะหลับฝัน แล้วเห็นคาราบาวในแบบเรียบง่ายที่สุด
แบบที่คนดูและคนเล่นเห็นหัวใจของกันและกัน ในสถานที่เล็ก ๆ คนดูพอประมาณ
ร้อง/เล่นเพลงที่งดงาม ให้ทั้งคนเล่นและคนดูทั้งสองฝ่าย ล่องลอยอยู่ในความเงียบ
ท่ามกลางเสียงอึกทึกของดนตรี

“....ฟ้าที่ขาดดาวไม่อาจพราวรัศมีส่อง ค่ำคืนไหนฟ้าหน้ามองคนหน้าใส....”
(เพลงสาธุชน)

สมองทำงานช้าลง เปลือกตาถูกข่มเหงจากความง่วงงงงัน
ความคิดสุดท้ายเข้ามาทันเวลาพอดี

คาราบาว...เพลงฮิตกับเพลงที่สวยงามไม่เหมือนกันเลย

ฝากคาราบาวผ่านภาพโมนาลิซ่า....
สำหรับฉัน เธออาจจะสวยขึ้น ถ้าเปลี่ยนกรอบใหม่เสียบ้าง

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักไมล์



อีกไม่กี่วันจะมีคนเดินทางไกลจากเมืองไทยไปถึงนาโกย่า

“เราสองคน” เคยขับรถจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่

ใช้เวลาขับรถอย่างไม่รีบเร่งราว ๘ ชั่วโมง เป็นเวลาที่ไม่นานนัก

แต่ก็รู้สึกว่าไกลพอควรสำหรับคนข้าง ๆ ที่ไม่ค่อยเดินทางไกล

จึงไม่แปลกที่จะมีเสียงบ่นไปตลอดทาง

หิว อยากเข้าห้องน้ำ เมื่อย และ “เมื่อไหร่จะถึงเสียที”

การเดินทางเป็นเหมือนการค้นหาปรัชญาของชีวิต

ถึงจะไกลแค่ไหน แต่ก็ยังมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึง
มีหลายวิธีการที่ทำให้ลืมเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายระหว่างทาง

คือ ให้รางวัลกับทุกหลักไมล์ที่การเดินทางผ่านไปถึง

ถึงอยุธยาแล้ว.....แวะกินกุ้งแม่น้ำสักหน่อยก็จะดี
ถึงนครสวรรค์...แวะซื้อขนมโมจิกลับไปฝากคุณพ่อ
ถึงพิษณุโลก...แวะไหว้พระพุทธชินราช เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต (ที่ยังเหลืออยู่)
ถึงลำปาง...ใช้เวลาเล็กน้อยสำหรับนั่งรถม้าชมเมือง

รางวัลของการเดินทางลักษณะนี้ วิธีคิดแบบนี้...

เชียงใหม่ก็เป็นแค่เป้าหมายสุดท้ายที่จะไปให้ถึง

จริงอยู่ !!! ชีวิตทุกคนมีเป้าหมายทีต้องพิชิต เพียงแค่อย่ามองเป้าหมาย

แล้วเหน็ดเหนื่อยกับมัน ทำให้ชีวิตให้สนุกกับทุกระยะทางที่เดินไปถึง

แล้วให้รางวัลกับตัวเอง

อีกไม่กี่วันจะมีคนเดินทางไกล....
ห้าชั่วโมงจาก กรุงเทพถึงญี่ปุ่นอาจไม่มีอะไรให้เก็บเกี่ยวระหว่างทาง

เพราะมองซ้ายก็คนเดินทาง มองขวาก็ท้องฟ้าและน้ำทะเล

สิ่งที่ฝากบอกไปก่อนขึ้นเครื่อง คือ

คนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ก็เปรียบเหมือนกับการเดินทางผ่านจิตใจของตัวเอง

ความเงียบและการเดินทางเพียงลำพัง อาจจมีเวลาให้ค้นหาความต้องการของตัวเองได้

“แม้ชีวิตได้ผ่านเลยวัยแห่งความฝัน วันที่ผ่านมาไร้จุดหมาย
ฉันเรียนรู้เพื่อยู่เพียงตัวและจิตใจ เป็นมิตรแท้ที่ดีตลอดกาล”


คิดเสียแบบนี้ทุกการเดินทางของชีวิตก็มีความหมาย.
ภาพประกอบบทความ ภาพถ่ายฝีมือ อ.วิโรจน์ จาก www.carabao2524.com

เนื่องด้วยอากาศร้อนตอนบ่ายวันนี้


ประเทศไทยยังอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ของสีเหลืองและสีแดง
ความคิดที่แตกต่างวุ่นวายของกลุ่มคน ยังทำงานอย่างว้าวุ่น

วันนี้ฝนตกและอากาศร้อน ไม่มีอะไรดีไปกว่า

"เขียนคำรำพัน"

๑. บนโต๊ะหนังสือมีหนังสือสองเล่มวางข้างกันเล่มหนึ่งชื่อ
“โลกร้อน” อีกเล่มหนึ่งชื่อ “สงครามเย็น” มีเนื้อหาแตกต่างกัน
มีชื่อเรื่องตรงข้ามกัน แต่ก็ถูกวางอยู่ใกล้ชิดติดกัน

๒. มีคน ๆ หนึ่งเหยียบบันไดเงิน เพื่อให้อีกกลุ่มหนึ่งไต่เชือกแห่งอำนาจ
แต่ประชาชนอีกหกสิบล้านคนกลับต้องยืนเคว้งคว้างบนปากเหว

๓. เศรษฐกิจของไทยหลายปีที่ผ่านมา มีสภาพเหมือนเพดานฟ้าลดต่ำลง
จนเมฆแตกตัวเป็นน้ำตา แม้แต่กะลาของขอทานยังมีน้ำขัง

๔. นึกภาพกันออกมั้ย !!! ประเทศที่พังทลาย จะหลงเหลือไว้แค่อิฐก้อนสุดท้าย

๕. จุดยืนของการเมืองประเทศไทยในเวทีโลก ไม่สำคัญเท่ามีแค่ที่ยืนเล็ก ๆ
ในแผ่นดินของตัวเอง

๖. ความคิดเห็นของคนสองฝ่ายที่แตกต่างกัน กำลังเผาไหม้ความจริงให้เป็นธุลี

๗. ฉันเป็นแค่ประชาชนที่มีแค่มือเปล่าและอยู่ในที่แจ้ง

๘. จงรู้ไว้เถิดว่า ดอกไม้ที่สวยงาม ไม่เคยมีดอกไหนที่เบ่งบานได้บนลานหิน

๙. ทะเลาะแย่งชิงกันต่อไป แบ่งสีแบ่งข้างให้พอใจ
ประชาธิปไตยในเมืองไทยยินดีให้พวกเธอเหยียบย่ำทำร้าย
เพื่อรอว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นเจ้าหญิง

พระจันทร์ / เขาพระวิหาร / ไมเคิล แจ๊คสัน



"...พระจันทร์เป็นของผู้ใด พระวิหารของผู้นั้น..."

ท่อนสำคัญของเพลง "เขาพระจันทร์" (อัลบั้มโฮะ, คาราบาว,พ.ศ.๒๕๕๒)
เพลงนี้เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในอัลบั้มนี้ เพราะมีสี่เหตุผลประกอบกัน


หนึ่ง.พระจันทร์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางอีกครั้ง หลังจากที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน
ในเพลงคาราบาวมาหลายเพลง

สอง.ภาษาสวย ๆ ของพี่แอ๊ดกลับมาอีกครั้ง มันเป็นเพลงที่มีสัมผัสทางภาษา
เหมือนเพลงในยุคแรก ๆ

สาม.แก่นของเพลงที่เนื้อหามุ่งไปหา คือ บอกเล่าความขัดแย้งระหว่างชนชาติ
เพียงแต่วิธีการที่คาราบาว นำเสนอในเนื้อหา “ไม่มีความรุนแรง”
(ประเภท เอาไมเคิลแจ๊คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา)

สี่.ปรัชญาที่ซ่อนไว้ในประโยค

พระจันทร์เป็นของผู้ใดพระวิหารของผู้นั้น"
มันลึกซึ้งจนคนตีความ (อย่างผม) “อึ้ง” กับกลวิธีการเล่าเรื่อง


แต่คนอื่นจะตีความอย่างไรก็แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
แต่สำหรับผม...พระจันทร์เป็นของใคร ? เขาพระวิหารก็เป็นของคนนั้น (นั่นแหละ)

มันเป็นประโยคที่ถามกลับไปหา “ผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย” เพื่อให้พวกคุณได้ฉุกคิดกันเองว่า

"ทุกสิ่งในโลกนี้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่สวยงามและสร้างสุนทรียให้มนุษย์
ก็ควรที่มุษย์ต้องช่วยกันรักษา ธรรมชาติ ป่า น้ำ ปิรามิด กำแพงเมืองจีน เพลง ดนตรี
พระจันทร์ เขาพระวิหาร หรือวงดนตรีคาราบาว”

ทั้งหมด “เป็น” และ “กำลังจะเป็น” ประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นสมบัติของคนทั้งโลก

ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งคนใด?

พูดถึงไมเคิล แจ๊คสันไปส่วนหนึ่งขอขยายความเพิ่มเติม
ไม่ใช่เพราะไมเคิลปรากฏอยู่ในเพลงทับหลัง บนทัศนะเชิงลบของคาราบาว
แต่เพราะมีอีกหลายแง่มุมที่ควรกล่าวถึง

เคยอ่านในเอกสารแผ่นหนึ่ง แอ๊ด คาราบาวบอกว่า การ MJ
เข้าไปเป็นตัวละครในเพลงทับหลัง ไม่ได้เกิดจากทัศนะเชิงลบในส่วนตัว แต่เป็นผลมาจาก

“พลังอำนาจของการตลาด”

แอ๊ด คาราบาวให้สัมภาษณ์ว่า
"ตอนนั้นคาราบาวเป็นพันธมิตรกับโค้ก MJ เป็นพรีเซนเตอร์ของเป๊ปซี่
เพียงเท่านี้ผมก็รู้แล้วว่าควรจะทำอย่างไร”

เพลงทับหลังจึงเกิดขึ้น จากส่วนผสมของความหวงแหนสมบัติชาติ
บวกกับทัศนคติที่ถูกฉาบด้วยพลังของการตลาด เมื่อฟังทับหลังแล้ว
คนฟัง สะใจมั้ยกับเนื้อหาที่รุก ไล่ ล่า ... วัฒนธรรมอเมริกัน
(ที่ช่วงนั้นถือว่า MJ เป็นตัวแทน)


“ไม่สะใจเลย”


MJ สิ้นไปเสียใจมั้ย

“ก็ไม่”

ผมชอบแค่ท่าเต้นแปลกตาที่ถูกออกแบบมาอย่างดี กับเพลง we are the world เท่านั้น

MJ มีชีวิตที่เป็นผลผลิตของ “ระบบทุนนิยมที่เห็นคนเป็นสินค้า”

มีแฟนเพลงเห็นเขาเป็น “เทพเจ้า”
หรือแม้แต่ครอบครัวที่น่าจะเป็นสิ่งที่เติมความเป็นคนให้สมบูรณ์
ก็ยังติดบ่วงทุนนิยมจนมองเห็นเขาเป็น ทั้งสินค้าและเทพเจ้าในเวลาเดียวกัน.

พระจันทร์ เขาพระวิหาร ไมเคิล แจ๊คสัน

เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ว่า
มนุษย์จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร
ภาพประกอบบทความ ปกซีดีอัลบั้ม "โฮะ" : วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย) จำกัด)

คาราบาวโดนลองของ






ผมถือหนังสือ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู” เข้าชั้นเรียน
ไม่ได้ตั้งใจจะไปขายหนังสือ แต่ตั้งใจจะเอาไปเป็นเครื่องมือการสอน
ให้เห็นว่า รุ่นพี่ของพวกเขาได้มีโอกาสฟังเพลงในอีกมิติหนึ่ง
จนลึกซึ้งกับเนื้อหาและการตีความจนสามารถนำมาเป็นประโยชน์ต่อชีวิต
เป็นประโยชน์ต่อวิธีการเรียนการสอน และผลของการโต้แย้งอภิปรายในชั้นเรียน
สามารถนำมาถ่ายทอด ต่อยอดให้กับคนอื่นได้รับรู้ในรูปแบบของสวนอักษรได้อีก
นอกเหนือไปจากฟังเพื่อความบันเทิงเพียงมิติเดียว


แต่ถ้าใครจะไปซื้อหามาอ่านก็ไม่ผิดกติกา เพียงแต่ว่าไม่มีขายในห้องเรียน
ผมยังคงถือกีต้าร์เข้าห้องเรียนในสัปดาห์แรกเหมือนทุกครั้ง

วันนี้ผมใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์เก่า ๆ รองเท้าผ้าใบลายกราฟฟิก
ข้างหนึ่งสีน้ำเงินอีกข้างสีแดงแปร๊ด (ซื้อลายเดียวกันมาสองคู่แต่สลับข้างใส่)


วิธีการถือกีต้าร์เข้าห้องเรียนกับการแต่งตัวที่ดูไม่เหมือนครู
ยังใช้ประโยชน์ในการเรียกความสนใจจากนักศึกษาได้เสมอ
เมื่อยังใช้วิธีนี้ได้อยู่ ทำไมจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ใช้ได้ผล

ก่อนเข้าห้อง...มีนักศึกษาคนหนึ่งที่เป็นแฟนคาราบาวและมีหนังสือทั้งสองเล่มที่ผมเขียน

“ตามรอยควาย” และ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู”

แอบเข้ามาบอกว่า

“ที่ผมเลือกลงทะเบียนวิชานี้เพราะเห็นชื่ออาจารย์เป็นผู้สอน”


อืมม์.....เป็นน้ำทิพย์ชะโลมจิตใจให้ชุ่มชื่นอีกประโยคหนึ่ง (ของชีวิต)


ผมกล่าวขอบคุณและบอกให้ตั้งใจเรียน ก่อนจะได้รับคำถามต่อมาทันทีว่า

“ในหนังสือห้องเรียนห้องใหญ่มีความเป็นครู อาจารย์พูดถึงเพลงของคาราบาว
ที่สามารถนำมาสอนได้อีกหลายวิชา อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย”



ผมเห็นว่าคำถามนี้และคำตอบของผมควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในชั้นเรียน
วิชาการโฆษณาขั้นสูง ที่ประตูห้องเรียนอยู่ห่างจากผมไม่เกินสามก้าว

ผมจึงขอให้เขาช่วยถามคำถามนี้อีกครั้งในจังหวะที่เหมาะสม
แผนการสอนที่จะเริ่มต้นด้วยเพลงทุ่งฝันตะวันรอนถูกรื้อทิ้งทันทีที่หน้าห้อง

ผมมีเวลาคิดออกแบบการสอนใหม่ เพื่อเริ่มต้นชั้นเรียนเพียงแค่ดื่มน้ำแก้วเดียว
ที่วางอยู่บนโต๊ะ

ที่สุดผมตัดสินใจยกเอา “บทสรุป”ของวิชาการโฆษณาที่จะใช้ลงท้ายในวันนี้
มาขึ้นต้นแทน

มันก็ไม่แปลกที่จะเอา

“หลังขึ้นมาหน้า”

เพราะภาพยนตร์หลายเรื่องก็เริ่มต้นด้วยบทสรุปของหนัง ก่อนจะค่อย ๆ คลี่คลาย
รายละเอียดในสองชั่วโมงที่เหลือ แต่หลายครั้งชั้นเรียนของผมก็ไม่จำเป็น
ต้อง “เริ่มต้นด้วยการเริ่มต้น”


ผมวางปากกาเมจิกหัวโต ๆ ลงบนกระดานไวท์บอร์ด เขียนบทสรุป 6 ข้อ

ของเนื้อหาเฉพาะในวันนี้ลงไป..(ผมเขียนเฉพาะตัวหนานะครับ ไม่ได้เขียนทั้งหมด)

1. งานโฆษณาไม่ใช่งานที่ทำออกมาแล้วดูสวย ดูเพลิดเพลิน
จนกลายเป็นงานศิลปะชั้นเอก แต่งานโฆษณาคืองานที่สื่อสารข้อมูล

2. ความสำเร็จของงานโฆษณา ไม่ได้อยู่ที่ทำออกมาแล้วได้รางวัล ไม่ใช่คำอุทาน
ของคนดูโฆษณาว่า “ครีเอทีฟจริง ๆ เลย” แต่งานโฆษณาหมายถึง “สินค้าชิ้นนี้
น่าซื้อจริง ๆ เลย”

3. “ขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่vชั่วโมง เสียงที่ดังที่สุดจาก
โรลสรอยส์ ที่คุณจะได้ยินคือ เสียงเดินของเข็มนาฬิกาคนเขียนคำโฆษณา
(Copy Writer) ความคิดที่ดีนี้มาจากการอ่านข้อมูลของสินค้านานกว่า 3 สัปดาห์

4. เมื่อรู้จักสินค้าของเราแล้ว ต่อไปให้ดูคู่แข่งขันว่าทำโฆษณาอย่างไร
ดูแล้ววิเคราะห์ให้ได้ว่าเขาประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเพราะอะไร

5. คนไม่ได้เลือกตัวสินค้า แต่เลือกภาพลักษณ์ (Image) ที่เหมาะกับตัวของเขาเอง
ให้นึกภาพตัวเองกำลังรินวิสกี้ยี่ห้อจอห์นนี่วอล์กเกอร์ บลูเลเบิ้ล
เทียบกับรินวิสกี้แบล็คแคท เราเหมาะกับสินค้าตัวไหนมากกว่า สินค้าหลายชนิด
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเลือกใช้แค่ “เหตุผล” ในการสื่อสาร ไม่มีวันทำได้สำเร็จ

6. รอโอกาสให้บางส่วนของโฆษณาได้ทำหน้าที่ ใครจะรู้บ้างว่าเพลง
“คนไทยหรือเปล่า” ในโฆษณาเบียร์ช้าง ของคาราบาว จะกลายเป็นวลีฮิตติดปาก
คล้าย ๆ กับที่ยังจำประโยค “เก่งจริงนะตัวแค่เนี้ยะ” ของผ้าอนามัยลอริเอะ
หรือ “คู่รักคู่รส” ของคอฟฟี่เมทได้ หรือจะนับเอาวลี “บาวแดงขวด” ที่มาพร้อม
สัญลักษณ์ทำมือเป็นรูปเขาควาย ที่เอาคำกับสัญญะเข้ามาผสมกันได้อย่างได้อารมณ์


ในที่สุดผมก็โยงคาราบาวเข้ามาจนได้ !!!



“ใครมีอะไรอยากบอก/อยากถามมั้ย”

นี่แหละครับที่ผมบอกว่ารอโอกาสเหมาะ ๆ ให้นักศึกษาที่เตี๊ยมกันนอกห้อง
ได้ตั้งคำถาม

“ในหนังสือห้องเรียนห้องใหญ่มีความเป็นครู อาจารย์พูดถึงเพลงของคาราบาว
ที่สามารถนำมาสอนได้อีกหลายวิชา อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย”



ผมหยิบกีต้าร์ขึ้นมา มีเพลงหนึ่งที่อยู่ในใจ และเป็นเพลง
ที่แม้แต่แฟนคาราบาวก็อาจจะไม่ใคร่จะสนใจนัก แต่เนื้อเพลงมีหลายท่อนหลายประโยค
ที่จะอธิบาย “บางอย่าง” ให้คนเรียนได้รู้ในมิติด้านลึกสำหรับหัดวิเคราะห์


“ทั้ง ๆ ที่ทน ที่ทนทุกข์ทรมาน แดดเผาเสียจนดำกร้าน แต่ความสงสารมักวิ่งสวนทาง
สัญญาณไฟจอดอ้อนอ้อนทำบุญสุนทาน มีดอกไม้หอม ๆ ตูมบาน มาลัยเป็นพวงสองพวงห้าบาท

แสงแดดแผดร้อน สอดส่องสายตาจับจ้อง ขาก้าวเดิน ปากป่าวร้อง สองมือทำงานเช็ดถูกระจก
คือน้ำใจของลูก ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่ ทดแทนคุณแม่ที่แก่เกินวัย นั่งร้อยมาลัย
ณ ริมฟุตบาท

ถึงจะมีจะจนก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน ขอเศษสตางค์แบ่งปัน หนูน้อยกำนัลด้วยพวงมาลัย
คือน้ำใจของท่าน ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่ ผูกใจเข้าใช่ผูกใจใคร คล้องพวงมาลัย
คล้องไทยรวมกัน

ระทมขมขื่น กล้ำกลืนฝืนทนทำไป ในหน้าที่ของตำรวจไทย ต้องอึดอัดใจไล่จับความจน
เพราะคนเป็นตำรวจ ตรวจตราแล้วมีเหตุผล มาลัยทำไปเพราะอับจน ให้ตำรวจจับโจร
เสียยังดีกว่า

สงสารเด็กน้อยมาลัยรบกวนผู้ใหญ่ ผู้รับผิดชอบประเทศประไทย ท่านคิดอย่างไร
ปัญหาอย่างนี้
จึงขอแนะนำว่าลงมาขายมาลัยสิ ท่านจะรู้คำตอบได้ดี ว่าที่ท่านคิดมันผิดหรือถูก”
(เพลงมาลัย อัลบั้ม อเมริกันอันธพาล คาราบาว พ.ศ.2528)


ลองช่วยกันหาประโยคในเพลงที่จะบอกเราว่า.....คาราบาวเป็นครูสอนการตลาด

สอนจริยธรรม
สอนสังคมศึกษา
สอนรัฐศาสตร์

ได้มั้ยครับ!!!! (ลองดู)



สัญญาณไฟจอด = วิชาพื้นฐานการตลาด ในตำราเราเรียกว่า 4’Ps
เราเรียนรู้ได้ว่าเด็กขายพวงมาลัยรู้จักเลือกพื้นที่การขาย (Place)

มีดอกไม้หอม ๆ ตูมบาน = วิชาพื้นฐานการตลาดอีกข้อหนึ่งหนึ่งที่สอนให้เราเรียนรู้
เรื่อง ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (Product Varieties)

มาลัยเป็นพวงสองพวงห้าบาท = วิชาพื้นฐานการตลาด เรื่อง ราคาและการส่งเสริการขาย
(Price and Promotion)

ขาก้าวเดิน ปากป่าวร้อง = วิชาพื้นฐานการตลาด เรื่อง การตลาดขายตรง (Direct Sales)

สองมือทำงานเช็ดถูกระจก = วิชาพื้นฐานการตลาดบอกเราด้วยว่า ถ้า (ลด แลก แจก) แถม
ได้ก็จะดี

คือน้ำใจของลูก ผูกพันภาระอันยิ่งใหญ่ ทดแทนคุณแม่ที่แก่เกินวัย = วิชาจริยธรรม

ถึงจะมีจะจนก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน = สอนวิชาสังคมศึกษา เรื่องสิทธิและความเสมอภาค
ในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ในหน้าที่ของตำรวจไทย ต้องอึดอัดใจไล่จับความจน = วิชาสังคมศึกษา
เรื่อง หน้าที่พลเมือง

ผู้รับผิดชอบประเทศประไทย ท่านคิดอย่างไรปัญหาอย่างนี้ = วิชารัฐศาสตร์ การเมือง
การปกครอง

ผมร้องเพลงมาลัยจบอย่างทุลักทุเลพอควร กดคอร์ดไม่ถูกบ้าง บอดบ้าง
ร้องเนื้อผิดบ้าง ถ้าเล่นดนตรีแล้วกดคอร์ดแป้ก หรือร้องผิดท่อน นี่ถือว่า
ไร้สมรรถภาพทางการดนตรีอย่างยิ่ง แต่คงไม่มีใครสนใจถึงข้อผิดพลาดนี้เท่าใดนัก
เพราะเพลงทำหน้าที่ของเพลงอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว คือสื่อสารกับคนฟัง
อย่างมีเป้าหมายและให้ซาบซึ้งไปกับความคิดของศิลปิน


ผมยืนยันได้ว่าไม่มีใครสนใจข้อผิดพลาด เพราะผมต้องร้องเพลงนี้ซ้ำอีกครั้ง
ตามคำเรียกร้อง หลังจากอธิบายแยกส่วนทีละบรรทัด ๆ ผมรีบเข้าเนื้อหาการโฆษณาที่
เตรียมมาอีกครั้ง เพราะกลัวว่าจะมีใครสักคนลองของถามถึงเพลงคาราบาวที่

สอนวิชาการพยาบาล

แต่ถ้ามีใครถามผมเตรียมคำตอบไว้แล้วด้วย

“เอ๊า....คนข้าง ๆ ช่วยต่อยคนถามให้ตาเขียวสักที ถือเป็นการเรียนรู้แบบ
Learning by Doing”


ถ้าใครกล้าถามแล้วมีคนกล้าต่อย ผมจะร้องเพลง บัวลอย
(เพลงสุดท้ายในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์) ให้ฟัง

ก็เห็นว่า ... ในอดีตพอเพลงนี้ขึ้นเป็นเหมือนสัญญาณแสดงความเป็นชายโชว์หญิง
เกือบทุกที ทั้ง ๆ ที่ความหมายของ “บัวลอย” มีปรัชญาและความล้ำลึก เกินกว่า
คนชอบโชว์พาวด์จะเข้าใจ


“ฟังเพลงพอหรือยัง....มาเรียนกันต่อ”


ผมทิ้งท้ายก่อนจะนำเข้าเนื้อหาการโฆษณาจริง ๆ สักที
(หลังพาออกทะเลไปเกือบชั่วโมง.)
ภาพประกอบบทความ ปกหนังสือห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู
เขียนภาพการ์ตูน โดน เป้ ออสซี่ สมาชิก www.carabao2524.com

my story

Photobucket
๒๐ ปีที่แล้ว ที่สนามศุภชลาศัย มีเพื่อนร่วมทีมอีก ๒๑ ชีวิต
เตรียมพร้อมก้าวขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัล รองชนะเลิศ
ฟุตบอลโรงเรียนของกรมพละศึกษา รุ่นอายุไม่เกิน ๑๘ ปี

สีเสื้อชมพูน้ำเงินของโรงเรียนโยธินบูรณะ ชุ่มโชกไปด้วยเม็ดเหงื่อ
เม็ดเหงื่อ ที่ทั้งทีมทุ่มเทกำลังแรงตลอด ๘๐นาทีของการแข่งขัน

วันนั้นอาจจะมีคราบน้ำตาของเพื่อนร่วมทีม
ติดอยู่ที่ปกและอกเสื้ออยู่บ้าง บางคนร้องไห้ที่พ่ายแพ้
แต่อีกหลายคนร้องไห้เพราะภาคภูมิใจที่ทำได้เกินเป้าหมายของทีมที่วางไว้
ประสบการณ์ตรงสอนว่า


“เหงื่อกับน้ำตามักจะมาคู่กันเสมอ”


ปี ๒๕๔๐ เวลาบ่ายค่อนเย็น ขาซ้ายก้าวนำข้างขวา ยกตัวขึ้นไปตามขั้นบันได
ร่างกายต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก แม้จะเพียงแค่ ๑๕ ขั้น แต่ก็เหนื่อยพอให้
ยืนพักเมื่อหยุดยืนที่หน้าห้องทะเบียน ที่อาคารบัณฑิตวิทยาลัย
ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ใช้เวลากรอกแบบฟอร์มไม่นาน
เพื่อเป็นหลักฐานขอรับใบปริญญา จากมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน
เป็นปริญญาใบที่สองในชีวิต ต่อจากปริญญาตรีที่เคยได้รับเมื่อ ๕ ปีก่อนหน้านี้

วันนั้น ไม่มีชุดครุย ไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นมาร่วมแสดงความยินดี
ไม่มีน้ำตาของความภาคภูมิใจ แค่เก็บความภาคภูมิใจไว้เงียบ ๆ
อิ่มเอมกับความสำเร็จอีกขั้นเพียงลำพัง แม้แต่คนในครอบครัวยังไม่รู้เลยว่า

เรียนจบปริญญาโทตั้งแต่เมื่อไหร่


เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง อีกครั้งว่า

ช่วงเวลาที่น่าจดจำ ไม่จำเป็นต้องมีใครมาร่วมจำกับเรา”



ชีวิตช่วงมัธยม มีความหมายเพราะการมีเพื่อนมาก ได้เล่น ได้เรียน (บ้าง)
สนุกสนานไปตามวัย ไม่มีเรื่องใด ๆ ให้คิดมากไปกว่านั้น

แตกต่างจากชีวิตช่วงที่ทำงานและเรียนปริญญาโทไปพร้อม ๆ กัน
เป็นชีวิตท่ามกลางการแข่งขันที่ไม่ได้จบแค่ ๘๐ นาที เป็นการแข่งขันที่พลาดได้
แต่ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว บางวันเหนื่อย ล้า จนท้อแท้

บางครั้งต้องยืนหน้ากระจกแล้วถามตัวเองว่า


“เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ต่อสู้เพื่ออะไร และทำทุกอย่างในวันนี้เพื่อใคร”


ถามตัวเอง แต่ไม่เคยได้คำตอบจากคำถามนั้น จนกระทั่งสายวันหนึ่ง


“ถ้าเรียนจบแล้วจะเอาความรู้ที่ได้รับไปทำอะไร” ....
“เอาไปพัฒนามหาวิทยาลัยครับ”

ตอบคำถามยาก ๆ แบบง่าย ๆ ตามที่รู้สึก จนมาคิดย้อนหลังว่าเป็นคำตอบโง่ ๆ

เพราะถ้าเรียนจบปริญญาเอกได้ตัวอักษร “ดร.” นำหน้า
จะต้องเอาความรู้ไปใช้พัฒนาแผ่นดินไทยและสังคมโลกไม่ใช่แค่

สังคมมหาวิทยาลัย



“หัวข้อเรื่องที่คิดว่าจะทำดุษฎีนิพนธ์ คิดว่าจะทำเรื่องอะไร” .......
“คาราบาว”


ตอบคำถามยาก ๆ แบบง่าย ๆ อีกครั้ง คาราบาวจะเอาไปพัฒนา

มหาวิทยาลัยได้ตรงไหน ?
ประสบการณ์ตรงที่ทำให้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากคำถามง่าย ๆ ของอธิการบดี
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน)
กับผู้อำนวยการโครงการดุษฎีนิพนธ์ (รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา) ว่า


“การมอบโอกาสให้ใครสักคน เป็นบุญอันยิ่งใหญ่ของชีวิต”

โอกาสที่ทั้งสองท่านมอบให้ คือให้ “เรียน” เพื่ออีก ๔ ปีข้างหน้า
จะได้มีคำนำหน้าว่า “ด๊อกเตอร์” ดูขัดเขินตัวเองอยู่บ้าง

ถ้าย้อนภาพกลับไปตอนที่วิ่งไล่เตะฟุตบอลอย่างสนุกสนานตอนมัธยม
กับช่วงที่เรียนไปทำงานไป บางวันให้เพื่อนในกลุ่มช่วยเช็คชื่อให้
แทบจะนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าคน ๆ เดียวกันนั้น จะได้รับโอกาสมากขนาดนี้

หลังประกาศผลการคัดเลือก มีแค่พ่อ แม่ และน้องชาย เป็นสามชีวิตในครอบครัว
ที่ร่วมยินดีด้วยกับโอกาสที่ได้รับ ยังจำได้แม่นยำถึงคำพูดของแม่
(ผศ.สมจิตต์ อินทสระ) รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะครุศาสตร์
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (ในขณะนั้น, ปัจจุบันคุณแม่เสียชีวิตแล้ว)

“อยู่ที่สวนดุสิต ขอให้ขยัน อดทน ซื่อสัตย์และ
อ่อนน้อมถ่อมตน”


คำสอนของแม่ นำมาลงมือทำและทำได้ดีพอสมควรอยู่สามอย่าง
คือ ขยัน ซื่อสัตย์ และอ่อนน้อมถ่อมตน

ส่วนเรื่องอดทน จะทำได้เป็นบางเรื่อง หรือบางสถานการณ์



เทอมแรกของการเรียนปริญญาเอก จึงเป็นสามเดือนของการพิสูจน์ความอดทน
อย่างแท้จริง เพราะถ้านับภาระงานสอน ๙ ชั่วโมงต่อสัปดาห์
งานกิจกรรม / งานในตำแหน่งหัวหน้าโปรแกรมศิลปกรรม / งานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย
และงานดูแลชีวิตส่วนตัว ให้มีข้าวกินมีเงินใช้ จากต้นเดือนถึงปลายเดือน

ก็ถือว่าได้ใช้ชีวิตเหมือน
“คนแบกเป้บรรจุก้อนกินเดินขึ้นเขา”

ตอนนี้ยังเพิ่มงานเรียนวันเสาร์อาทิตย์เต็มวัน และตอนเย็นของบางวันเข้าไปอีก
ชีวิตการเรียนปริญญาเอกจึงไม่ใช่แค่อดทน แต่มันต้องเดินทางไปจนถึงขั้น
“ทรหด” อีกด้วย

เวลาที่หายไปสามวันต่อสัปดาห์ การบ้านที่อาจารย์มอบหมายทั้งงานกลุ่ม
งานเดี่ยว ที่ต้องทำอย่างมีคุณภาพให้สมกับ “แคนดิเดท ด๊อกเตอร์” ในอนาคต

เวลาที่หายไปจึงมีมากกว่ากว่า ๗๒ ชั่วโมง
เวลายี่สิบสี่ชั่วโมงต่อวัน เหมือนจะไม่พอเสียแล้ว

แต่เมื่อเวลาทุกคนมีเท่ากัน จึงต้องหาวิธีเพิ่มเวลาด้วยหลักการง่าย ๆ
คือ ตื่นให้เร็วกว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง และนอนช้ากว่าเดิมหนึ่งชั่วโมง

วิธีนี้ทำให้เวลาในหนึ่งวันเพิ่มเป็น ๒๖ ชั่วโมง เพียงพอสำหรับการอ่านเพิ่ม
ค้นคว้าเพิ่ม เรียนรู้บทเรียนใหม่ ๆ เพิ่ม ที่สำคัญเริ่มที่จะเรียนรู้ และเข้าใจว่า
เรายังเหลือเวลาที่จะใช้สำหรับพักผ่อนอีกนาน วันนี้ยังมีแรงให้ลงมือทำ
ยังมีสมองให้เริ่มคิด


“วันใดที่ดินกลบหน้า วันนั้นจะเป็นวันที่ได้พักผ่อนตลอดกาล”


โลกของการเรียนปริญญาเอก จึงไม่ได้แค่สอนให้รู้จักโลก “กว้าง” ขึ้น
เพียงเพราะได้ไปดูงานและเรียนบางวิชาบนแผ่นดินอเมริกา เยอรมัน ออสเตรเลีย
แต่สอนให้เราเรียนรู้ชีวิตของตัวเองและของคนอื่นในทาง “ลึก” อีกด้วย

คนอเมริกันอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะนโยบายทางการเมืองที่ขัดแย้งกับมุสลิม
หลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน คนอเมริกันก็ใช้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

คนเยอรมันพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เก่งกว่าคนไทย และคนออสเตรเลีย
มีสถานะแค่ “คนชายขอบ” ของทวีปที่ตัวเอง (อาศัย) อยู่


โลกของการเรียนปริญญาเอกไม่ได้สอนแค่ทฤษฎี ตามตำราฝรั่ง แต่ยังสอนให้
“คิดนอกกรอบ”
พร้อม ๆ กันไปด้วย เวลาที่เพิ่มขึ้นวันละสองชั่วโมง นั่นแหละเป็นตัวอย่างหนึ่ง
ของการคิดนอกกรอบ


คนที่เรียนปริญญาเอก จะเสียเวลาที่เป็นส่วนตัวไปเกือบหมด
ไม่มีเวลาเดินทอดน่องดูโปรแกรมหนัง เพื่อรอเวลาของหนังที่อยากดู
ไม่เหลือเวลาไปดูคอนเสิร์ตที่อยากไป ไม่มีแม้แต่เวลาจะตั้งใจดูลิเวอร์พูล
ทีมโปรด ทางทีวี ที่ถ่ายทอดสดทุกสัปดาห์ ทำได้อย่างมากแค่เปิดทีวีทิ้งไว้
ฟังเสียง แล้วเงยหน้ามองเกมบางช่วง ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ

ปริญญาเอกจึงสอนให้รู้จักคุณค่าของเวลา เรียงลำดับและจัดการกับทุกอย่าง
ที่เคยเป็นความคุ้นชินให้อยู่ในระบบระเบียบ สาระตรงนี้ต่างหาก
ที่ทำให้คุณค่าของปริญญาไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่เดินขึ้นไปรับใบประกาศฐานะบนเวที
หรือมีคำนำหน้าชื่อ แต่เป็นการสอนให้เกิดกระบวนการทางความคิด
ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ตลอดที่ชีวิตยังเหลืออยู่


ปี ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยฯ อนุมัติดุษฎีบัณฑิต หัวข้อ

“การเดินทางของคาราบาวจากยุคอุดมการณ์สู่เส้นทางทุนนิยม”

เป็นหัวข้อเรื่องที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นแบบคนละทิศทาง
มีเหตุผลสองประการ ที่ตัดสินใจเลือกหัวข้อนั้น

หนึ่ง.เพราะรสนิยมส่วนตัว

สอง. เชื่อมั่นในประโยคที่เคยอ่านเจอในหนังสือเล่มหนึ่งว่า
ต้องคิดทุกอย่างให้แตกต่าง เพราะถ้าไม่ต่างโลกนี้จะไม่หมุน

ประโยคนั้นเขียนสรุปสั้นๆ ได้ว่า
Diffenctiate or Die


ผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวถูกนำไปต่อยอดจนเป็นพ๊อกเก็ตบุ๊คส์ขนาด ๓๒๐ หน้า
ชื่อ “ตามรอยควาย”


เป็นงานที่ได้รับคำชื่นชมจากสื่อมวลชนสายบันเทิง
ได้รับการยอมรับจากสมาชิกวงดนตรีคาราบาวและแฟนเพลงคาราบาว
อีกจำนวนไม่น้อย

ชื่อของด๊อกเตอร์จากสวนดุสิตเริ่มรู้จักในสังคม


ปีต่อมา.....เรื่องราวของคาราบาวที่รวบรวมเป็นข้อมูลมหาศาล
ในช่วงที่เรียนปริญญาเอก ถูกนำมาจัดเรียงใหม่ และหาข้อมูลเพิ่ม

จนได้พ๊อกเก็ตบุ๊คส์เล่มที่สอง

ชื่อ “ห้องเรียนห้องใหญ่มีควายเป็นครู” (ซึ่งคนละความหมายกับมีครูเป็นควาย)

มีเนื้อหาที่เล่าถึงเทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ที่มีเพลง
เป็นตัวเชื่อมครูกับ นักเรียน เป็นงานกึ่งวิชาการ ที่ใช้ภาษาแบบชาวบ้าน
มีเป้าหมายที่ การนำดุษฎีนิพนธ์เล่มหนาลงมาชั้นหนังสือให้ได้
ส่งให้ชื่อของ “สวนดุสิต”

เข้าไปอยู่ในแวดวงวรรณกรรมเพิ่มขึ้นอีกวงการหนึ่ง



ปริญญาเอกของผศ.ดร.ฐานะวัฒนา สุขวงศ์ (เพื่อนร่วมรุ่น)
เรื่อง “ยุทธวิธีการนำเสนอเพลงไทยประยุกต์สู่กลุ่มวัยรุ่น”
ถูกนำมาเป็นต้นทางความคิด จนกระทั่งเกิดเป็นการแสดงดนตรีร่วมสมัย

“เรื่องราวระหว่างเขาควายและไม้ระนาด”

มีคาราบาวกับขุนอิน เป็นพระเอก

ตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม อย่างเป็นรูปธรรม
เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการหว่าน เพาะ ปลูก รดน้ำ พรวนดิน
ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมล็ดพันธุ์ความรู้ในระดับปริญญาเอก
งอกเงยในสังคม อย่างดงาม

ตอบโจทย์บางข้อที่สังคมไทยยังบกพร่อง


ตอนนี้รู้แล้วว่า...
“เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ต่อสู้เพื่ออะไร และทำทุกอย่างในวันนี้เพื่อใคร”


ก่อนจะเป็นด๊อกเตอร์ เส้นทางที่ยาวไกลไม่เกิน ๔ ปี

แต่หลังการเป็นด๊อกเตอร์ มีเส้นทางข้างหน้า
ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นภารกิจที่ไกลสุดสายตา.